Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤษภาคม 2563

Econ Digest

New Normal เปลี่ยนซัพพลายเชนโลก กระทบการลงทุนของต่างชาติในไทย

คะแนนเฉลี่ย

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของซัพพลายเชนโลก ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาที่จุดหนึ่งจุดใดของซัพพลายเชน ปัญหาจะสามารถลุกลามจนทำให้ต้องยุติการผลิตตลอดทั้งซัพพลายเชนได้ จะเห็นได้จาก เมื่อรัฐบาลจีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น และปิดโรงงานทั้งหมดในช่วงปลายเดือนมกราคม-เมษายน ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ต้องหยุดการผลิตรถยนต์ตามไปด้วย เพราะชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ส่วนหนึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น นอกเหนือจากผู้ผลิตรถยนต์แล้ว อุตสาหกรรมการผลิตของโลกแทบทั้งหมดมีฐานการผลิตอยู่ที่จีน จึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิตหลายอย่าง ตั้งแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ไปจนถึงอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ ได้รับผลกระทบจากความชะงักงันในซัพพลายเชนที่เกิดขึ้นในจีนไม่มากก็น้อย

จากบทเรียนในครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของซัพพลายเชนโลกที่มุ่งเน้นการผลิตเป็นจำนวนมากในประเทศที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเพียงที่เดียว ดังนั้น ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนซัพพลายเชน เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น หรือที่เราเรียกว่า “Agile Supply Chain” จากนี้ไป การผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญต่าง ๆ จะเริ่มกระจายตัวอยู่ในฐานการผลิตของแต่ละภูมิภาคมากขึ้น ตลอดจน การนำระบบการผลิตแบบออโตเมชั่นมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับสายการผลิตสู่สินค้าที่มีความคล้ายคลึงกันได้อย่างรวดเร็ว หากเกิดภาวะชะงักงันในซัพพลายเชนที่อื่น หรือเสริมกำลังการผลิตในกรณีที่มีการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ชั่วคราว

จะเห็นได้ว่า แนวคิดแบบ Agile Supply Chain จะทำให้เกิดการลงทุนในฐานการผลิตอื่น ๆ นอกจากจีน เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและแก้ปัญหาการชะงักงันในซัพพลายเชน สำหรับประเทศไทย เรามีโอกาสที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามากที่สุด เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมกลุ่มนี้อยู่อย่างครบวงจร ประกอบกับ อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เป็น Capital-Intensive Industry ที่เน้นใช้เครื่องจักรในการผลิต จึงสามารถกระจายสายการผลิตในไทย เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่นมากขึ้นได้โดยสะดวก

ส่วนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ใช้ Frontier Technology เช่น อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ที่เราหวังจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาที่ไทย จากนี้ไป คิดว่าคงเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีแนวโน้มที่บริษัทผู้ผลิตจะกระจายความเสี่ยงกลับไปที่ประเทศแม่ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีมากกว่า เนื่องจากสินค้านวัตกรรมเหล่านี้เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานทักษะสูงในการผลิต จึงไม่สามารถจะหาฐานการผลิตอื่นทดแทนจีนได้ง่าย ดังนั้น การย้ายการลงทุนส่วนหนึ่งกลับไปที่ประเทศแม่เลยจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ส่วนอุตสาหกรรม Labor-Intensive ประเทศไทยก็คงไม่มีโอกาสในการรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมากนัก เพราะค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าค่าจ้างแรงงานในกลุ่มประเทศ CLMV ค่อนข้างมาก หากจะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ประเทศในกลุ่ม CLMV เช่น เวียดนาม ก็น่าจะเป็นประเทศที่มีโอกาสรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมากกว่าไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Agile Supply Chain จะทยอยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปีหน้า เพราะปีนี้ เศรษฐกิจหลักทั่วโลกได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแบบฉับพลัน ทำให้ความต้องการสินค้าต่าง ๆ ของผู้บริโภคลดลงทั่วโลก และทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินของสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีอยู่พอสมควร ประกอบกับ ปีนี้ ผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัวดี อุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงชะลอการลงทุนไปก่อน

ในระยะยาว การลงทุนของต่างชาติในภาคการผลิตของไทยจะกระจุกตัวลงอยู่ในสองอุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ไทยจึงสูญเสียโอกาสที่จะได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้แนวโน้มเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมาไทยลดลงได้ในอนาคต ภายใต้สมมุติฐานที่การลงทุนจากต่างชาติในภาคบริการและภาคเกษตรไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนซัพพลายเชนโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมจะยังได้รับมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศน้อยลงประมาณ 17% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการลงทุนลดลง 1.3% และทำให้ผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมหดตัวประมาณ 0.3%   

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest