Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กันยายน 2563

Econ Digest

โควิด-19 ฉุดส่งออก ! ส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปี 63 เหลือต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท คุมเข้มชายแดน...กระทบการค้าไม่มาก

คะแนนเฉลี่ย
               ล่าสุดเมียนมาได้ประกาศให้รถบรรทุกสินค้าจากไทยที่จะข้ามพรมแดนไปเมียนมาบริเวณด่านแม่สาย จ.เชียงราย ต้องเปลี่ยนคนขับเป็นชาวเมียนมา และยังกำหนดให้รถป้ายทะเบียนไทยทุกประเภทเข้าไปใน จ.ท่าขี้เหล็ก ได้เพียงวันละ 6 คัน จากปกติมีรถขนสินค้าผ่านไปเมียนมาไม่ต่ำกว่า 300 คันต่อวัน โดยรถดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกของเมียนมา และต้องทำตามกฎข้อบังคับที่กรมการขนส่งที่ทางรัฐบาลรัฐฉานได้กำหนดไว้เท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 2563 ซึ่งมาตรการนี้จะมีผลกระทบทางตรงต่อการค้าชายแดนของไทยไปเมียนมาบริเวณด่านแม่สายที่มีมูลค่าการส่งออก 6,549 ล้านบาท (ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2563) ซึ่งทำให้ปริมาณสินค้าที่ส่งไปเมียนมาลดน้อยลงและอาจไม่เพียงพอต่อการบริโภค 

               ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ด้วยความจำเป็นของการค้าขายชายแดน หากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลง มาตรการคุมเข้มบริเวณพรมแดนที่ด่านแม่สายน่าจะทยอยผ่อนปรน โดยอาจมีการอนุญาตให้เพิ่มจำนวนรถที่ผ่านเข้าเมียนมา อย่างไรก็ดี การส่งสินค้าไทยผ่านด่านแม่สายคิดเป็นเพียง 13% ของมูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนไทยไปเมียนมาทั้งหมดเท่านั้น อีกทั้งสินค้าไทยที่ผ่านช่องทางนี้เป็นสินค้าจำเป็นจึงไม่น่าจะกระทบการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาอย่างมีนัยสำคัญ

                 ​อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาก็เผชิญผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด 19 มาระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 การส่งออกหดตัว 14.2% (YoY) มีมูลค่าเหลือ 51,400 ล้านบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้คงมีภาพที่ไม่สดใสนักจากผลทางเศรษฐกิจเมียนมาเป็นหลัก โดยน่าจะหดตัวลึกไม่ต่ำกว่า 10% และทำให้ปี 2563 การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมามีมูลค่าต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ ถ้าหากมีความจำเป็นที่ทั้งสองประเทศต้องใช้มาตรการคุมเข้มบริเวณพรมแดนอื่น ๆ โดยเฉพาะด่านแม่สอด จ.ตาก และด่านศุลกากรระนอง จ.ระนอง ก็อาจฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาหดตัวมากขึ้นอีก



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest