Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

อนุญาตเรือยอร์ชเทียบท่าไทย คาด…สร้างรายได้ในช่วงหยุดพักจอดเรือ 1,500 – 2,000 ล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

​​          จากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุญาตให้เรือสำราญขนาดเล็กและกีฬา (เรือยอร์ช) สามารถเดินทางเข้ามาจอดในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีเรือแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว 60 ลำ แบ่งเป็น เรือซุปเปอร์ยอร์ช 27 ลำ และเรือสำราญขนาดเล็ก 33 ลำ รวมผู้โดยสารประมาณ 600-700 คน ทั้งนี้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาทางเรือกีฬา (เรือยอร์ช) และเรือสำราญ ยังคงต้องกักตัวภายในเรือไม่น้อยกว่า 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง ก่อนที่จะสามารถลงเรือเพื่อเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบชาวต่างชาติที่เดินทางมากับเรือดังกล่าวมีสิทธิขอรับการตรวจลงตรานักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) ตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โดยปกติในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ จะเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช) ขนาดเล็กเข้ามาจอดเทียบท่ามากกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว และการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อและบางกลุ่มจะเทียบเรือพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานกว่าการท่องเที่ยวปกติและเดินทางมาเป็นกลุ่มเล็ก ซึ่งจะต่างจากเรือสำราญขนาดใหญ่ที่ปกติจะจอดเทียบท่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวลงมาเที่ยวแวะซื้อสินค้า 1-2 วัน

            แม้แนวทางดังกล่าวจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพื่อให้การบริหารจัดการคัดกรองโรคโควิดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในประเทศตามมา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในหลายประเทศยังรุนแรง แต่นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทยที่ภาครัฐพยายามที่จะหาแนวทางเพื่อให้กิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถกลับมาได้ในเร็ววัน ทั้งนี้ การอนุญาตให้กลุ่มเรือดังกล่าว เข้ามาจอดเทียบท่าในประเทศไทยได้ คาดว่าจะมีส่วนสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างสถานที่เช่าจอดเรือและบริการอื่นๆ จากการใช้จ่ายของชาวต่างชาติในช่วงระหว่างการหยุดพักจอดเรือ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,500-2,000 ล้านบาท (รายได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของจำนวนวันพักและการจอดเรือ โดยปกติชาวต่าวชาติกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะพักในไทยไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน) และการผ่อนคลายครั้งนี้น่าจะทำให้มีจำนวนเรือสำราญขนาดเล็กและกีฬา (เรือยอร์ช) เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่การเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติในไทยในส่วนของเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช) นี้ ยังอยู่ในกรอบประมาณการที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่าทั้งปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.7 ล้านคน



            ดังนั้น ภาครัฐน่าจะใช้ช่วงจังหวะเวลาที่สถานการณ์การท่องเที่ยวทางเรือยอร์ชและเรือสำราญยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในการวางแผนพัฒนาศักยภาพให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนา/ปรับปรุงท่าเรือเพื่อให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ตามแผนที่กำหนด (โดยภาครัฐมีแผนที่จะพัฒนาท่าเทียบเรือให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่และรองรับการจอดเรือยอร์ชทั้งฝั่งทะเลอันดามัน เช่น กระบี่ ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ขณะที่ฝั่งอ่าวไทย เช่น ชลบุรี และตราด เป็นต้น) การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ การพิจารณากฎระเบียบที่เอื้อต่อการจอดพักเรือเป็นระยะเวลานาน และการพัฒนาต่อยอดธุรกิจบริการเรือยอร์ชและเรือสำราญอย่างอู่ซ่อมเรือให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านการตลาดที่ท้าทาย อาทิ การดึงให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวและหนึ่งในเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะเส้นทางเดินเรือที่มาจากทางยุโรป


[1] CLIA






                                                                                                                                                         ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest