Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 สิงหาคม 2564

Econ Digest

ต่างชาติเตรียมใช้ "หยวนดิจิทัล" กวางตุ้ง ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง มาเก๊า

คะแนนเฉลี่ย

         อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนดำเนินอยู่บนพื้นฐานของสังคมแบบไร้เงินสดเป็นหลัก ผ่านการใช้ Digital Banking และ Digital Payment บน e-wallet ของภาคเอกชนอย่าง Alipay หรือ WeChat Pay ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมแก่ผู้ใช้งาน อีกทั้ง ยังมีต้นทุนการทำธุรกรรมที่ต่ำ ส่งผลให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย โดยคนจีนกว่าร้อยละ 80 ต่างใช้ Digital Banking และ Digital Payment ในการทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน นับว่าเป็นความสำเร็จของผู้ให้บริการภาคเอกชน ทั้งในด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม และการเข้าถึงผู้ใช้งานในวงกว้าง  
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางกระแสสังคมไร้เงินสดผ่านแพลตฟอร์มที่ดำเนินการโดยเอกชนในจีนตามที่กล่าวมาข้างต้น ทางการจีนก็อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบการใช้งานหยวนดิจิทัล รวมถึงแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-CNY Wallet) สำหรับใช้หยวนดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ อย่างเข้มข้น ซึ่งหากมองลึกถึงเหตุผลของการพัฒนาหยวนดิจิทัลของทางการจีนในครั้งนี้ ก็คงเป็นเพราะทางการจีนต้องการความมั่นใจในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง หรืออาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาหยวนดิจิทัลก็เท่ากับเป็นการสร้างความสบายใจแก่ทางการจีนที่จะยังสามารถควบคุมและกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจและการเงินของจีนได้ โดยเฉพาะในประเด็นด้านความปลอดภัยของข้อมูลตามกฎหมายของทางการจีน 

         ทางการจีนเร่งพัฒนาหยวนดิจิทัล ไปพร้อมๆ การคุมเข้มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลของเอกชน ซึ่งรวมถึงคริปโตเคอร์เรนซี
นอกเหนือจากการห้ามปรามการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชนอย่างคริปโทเคอร์เรนซีอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการขุด ซื้อขาย ชำระหนี้ และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อันเนื่องมาจากความกังวลที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาด หรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอธิปไตยทางการเงิน (Monetary Sovereignty) ของจีน ทางการจีนก็ยังมีท่าทีที่เข้มงวดกับการควบคุมธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือที่เป็นผู้ให้บริการออนไลน์ในด้านต่างๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ FinTech Food Delivery หรือผู้ให้บริการเพลงออนไลน์ นับว่าเป็นการตอกย้ำภาพของทางการจีนที่ต้องการให้กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงและอาจมีความเสี่ยงต่อความมั่นคง โดยเฉพาะในประเด็นความปลอดภัยด้านข้อมูล ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการอย่างจริงจัง 
          หากเน้นมองด้านการพัฒนาหรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล ซึ่งรวมถึงคำสั่งห้ามของทางการจีนเกี่ยวกับการทำธุรกรรมคริปโทเคอร์เรนซีดังกล่าวนั้น แม้อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ในจีน แต่ก็เป็นการสะท้อนสิ่งที่ทางการจีนได้เลือกแล้วว่า ต้องการให้การพัฒนาเงินดิจิทัลอยู่ในระบบนิเวศใหม่ที่ทางการกำลังสร้างขึ้นมากกว่า ซึ่งก็คือการพัฒนาหยวนดิจิทัล หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) เพื่อให้ทางการสามารถยกระดับการควบคุม ดูแล และตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมและข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ เพื่อให้ทางการจีนสามารถรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจและการเงินไว้ได้ และปัจจุบัน ทางการจีนก็กำลังเดินหน้าพัฒนาและทดสอบการใช้หยวนดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการใช้ในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องไปตามเทรนด์การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลก 

            ในอีกด้านหนึ่ง...ทางการเดินหน้าพัฒนาหยวนดิจิทัล สู่ขั้นการเริ่มขยายการใช้งานไปที่ต่างชาติ
สำหรับการใช้หยวนดิจิทัลในประเทศนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาฟังก์ชั่นเพื่อรองรับการใช้งานในหมู่ประชากรผู้สูงอายุหรือคนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วนั้น ก็ยังมีความคืบหน้าเพิ่มเติม เมื่อทางการจีนได้ประกาศว่าจะอนุญาตนักท่องเที่ยวต่างชาติในจีนสามารถเปิดใช้ e-CNY wallet เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารในจีน จากแต่เดิมที่อนุญาตให้เฉพาะคนที่มีสัญชาติจีน อาศัยในจีน และมีบัญชีธนาคารในจีนเท่านั้น โดยการอนุญาตนักท่องเที่ยวต่างชาติในจีนครั้งนี้ น่าจะเป็นการทดสอบเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2565 ด้วย และน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการพิจารณาให้มีการใช้หยวนดิจิทัลในต่างประเทศในระยะข้างหน้า 
ปัจจุบัน ได้มีการทดสอบการใช้งานหยวนดิจิทัลทั้งหมด 9 เมือง โดยในปี 2563 ได้มีการทดสอบในเมืองสงอัน เซินเจิ้น ชูโจว เฉิงตู ขณะที่ปี 2564 ได้มีการทดสอบเพิ่มเติมในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ฮ่องกง มาเก๊า และมณฑลกวางตุ้ง โดยมีการขยายแหล่งรับเงินด้วยหยวนดิจิทัลเพิ่มขึ้น อาทิ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และโรงพยาบาล จากเดิมที่มีเพียงร้านค้า ร้านอาหาร และแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ลงทะเบียนทดสอบกับทางการจีน ทำให้ปัจจุบัน มีคนจีนราว 20.8 ล้านคน หรือราวร้อยละ 1.5 ของประชากรจีนทั้งหมด มีการเปิดใช้ e-CNY Wallet เพื่อใช้จ่ายด้วยหยวนดิจิทัล ก่อให้เกิดปริมาณธุรกรรมราว 70.7 ล้านรายการ มีมูลค่ารวมประมาณ 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 1 


              ความท้าทายของหยวนดิจิทัล คือการสร้างประโยชน์จากใช้งานจริงเพิ่มขึ้น...เพื่อให้เป็นมากกว่าการเปลี่ยนจากเงินกระดาษมาเป็นเงินดิจิทัล
แม้จะมีการพัฒนาไปตามลำดับขั้นต่างๆ ข้างต้น แต่การใช้งานหยวนดิจิทัลในระยะแรกนี้ อาจส่งผลกระทบต่อธุรกรรมที่ใช้เงินสด หรือการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ประชากรเมืองส่วนมากใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ชัดมากนัก หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการเพิ่มบทบาทของ Wallet ทางการ เพื่อทดแทนส่วนแบ่งของ Wallet เอกชน ซึ่งดูเหมือนว่าอาจไม่ได้สร้างความแปลกใหม่ที่เด่นชัดอีกเช่นกัน เพราะ Wallet เอกชนที่ใช้กันเดิม ก็ให้ความสะดวกสบายในการใช้งานและมีต้นทุนการทำธุรกรรมที่ต่ำอยู่แล้ว
             อย่างไรก็ตาม การเดินเกมนี้...คงยังต้องรอดูกันต่อไป เพราะบทพิสูจน์ของความสำเร็จที่วัดจากความแพร่หลายของการใช้งานในความรู้สึกที่แท้จริงของผู้บริโภคนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ทางการจีนได้วางแผนการพัฒนาหยวนดิจิทัลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value) ที่มากขึ้นอย่างไรด้วย ?
             สำหรับในระยะแรก การใช้หยวนดิจิทัลในประเทศ อาจไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการชำระเงินในจีนอย่างมีนัยสำคัญดังที่กล่าวไปแล้ว ขณะที่ต้นทุนการทำธุรกรรมก็อาจไม่ได้ลดลงมากนัก เมื่อเทียบกับวิธีการชำระเงินหรือโอนเงินในรูปแบบ Digital Banking หรือ Digital Payment ในปัจจุบัน อาจทำให้ Economic Value ที่เกิดจากการใช้หยวนดิจิทัลในประเทศไม่ชัดเจนมากนัก
ส่วนในระยะกลางถึงยาว หากทางการจีนสามารถต่อยอดจากการใช้หยวนดิจิทัลได้ อาทิ การใช้งานที่สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ต้นทุนการทำธุรกรรมที่ถูกกว่าระบบที่มีอยู่เดิมอย่างแท้จริง การส่งผ่านนโยบายการเงิน รวมถึงความช่วยเหลือทางการเงินไปที่กลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง โดยที่ลดหรือแม้กระทั่งไม่ผ่านตัวกลางทางการเงินอย่างเช่นสถาบันการเงิน การต่อยอดเหล่านี้ ก็น่าจะทำให้เกิด Economic Value ที่ชัดขึ้น และในระยะยาว หากทางการสามารถดึงกลุ่มคนในชนบทที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการทางการเงินเข้าสู่เครือข่ายดิจิทัลนี้ได้ อันจะทำให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินและรายได้ในอนาคต ผ่านการกู้ยืมเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ก็น่าจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า
              ส่วนการผลักดันให้มีการใช้หยวนดิจิทัลในด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อยกบทบาทจีนในเวทีการค้าโลกนั้น จะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน...ยังขึ้นอยู่กับความสะดวกในการใช้งานของประเทศคู่ค้า รวมถึงระบบของธนาคารกลางของประเทศคู่ค้านั้นๆ ด้วย ซึ่งน่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณหนึ่งในการพิสูจน์จากการใช้งานจริง ทั้งนี้ หากสุดท้าย ธนาคารกลางในแต่ละประเทศสามารถผลักดันเงินสกุลดิจิทัลของตนเองได้สำเร็จเช่นกัน (ซึ่งรวมถึง ธปท.ที่กำลังเดินหน้าโครงการพัฒนาและทดสอบระบบชำระเงินและโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงศึกษาการใช้และผลกระทบของ Retail CBDC เช่นกัน) ก็คงทำให้ธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินระหว่างสกุลต่างๆ อาจไม่ต่างจากปัจจุบันมากนัก เพียงแต่จะสามารถทำธุรกรรมได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิม ด้วยระบบเครือข่ายดิจิทัลที่เชื่อมต่อกันโดยตรง 
ดังนั้น ภาพประเทศจีนที่จะเห็นต่อจากนี้ แม้จะยังคงเป็นประเทศที่ล้ำหน้าเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ก็จะอยู่ภายใต้การควบคุม และกำกับดูแลของทางการจีนแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้การพัฒนาด้านสกุลเงินดิจิทัลมีการพัฒนาที่เป็นระบบและมีแบบแผน โดยตีกรอบการพัฒนานวัตกรรมใหม่ของภาคเอกชนให้ชัดเจนขึ้น
               สำหรับประเทศไทย การพัฒนาหยวนดิจิทัลของจีนแบบก้าวกระโดดในครั้งนี้ แม้อาจยังไม่มีผลกระทบกับไทยทั้งในระยะสั้นหรือระยะกลางมากนัก เนื่องจากหยวนดิจิทัลยังเป็นการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก และยังเป็นการใช้ในบางเมืองเท่านั้น  นอกจากนี้ โดยปกติแล้ว ผู้บริโภคจีนที่ต้องการซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศก็สามารถเลือกช่องทางการชำระเงินได้หลากหลาย อาทิ บัตรเครดิต Letter of Credit (L/C) เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการคนไทยสามารถรับเงินเป็นไทยบาทผ่านบัญชีธนาคารในประเทศไทยได้ตามปกติ แต่ก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่น่าจับตามอง และชวนคิดถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลของไทยเช่นกันว่าควรได้รับการดูแลมากน้อยเพียงใด เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ก่อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง


---------------------------------------------------------------
 1ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2564 (ที่มา: CNBC)

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest