Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 เมษายน 2563

Econ Digest

ทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์ของไทยจะเป็นอย่างไร?

คะแนนเฉลี่ย

นับตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย (Personal Protective Equipment: PPE) ได้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า และความต้องการเสื้อกาวน์แบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่แบนการส่งออกหน้ากากอนามัย จึงทำให้เกิดความกังวลว่าบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนผลิตอุปกรณ์ป้องกันร่างกายอาจย้ายฐานการผลิตออกจากไทย หลังจบวิกฤตโควิด 19

แต่ก่อนที่เราจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบของโควิด 19 ต่อการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงภาพรวมของการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย ในช่วงก่อนวิกฤกตโควิด 19 เสียก่อน จากฐานข้อมูลบริษัทต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์พบว่า บริษัทต่างชาติถึง 67% มาลงทุนผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ในไทย แต่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น สายสวนหลอดเลือดดำ หลอดฉีดยา มากกว่าจะเป็นการผลิต PPE นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติที่ผลิต PPE ในไทยส่วนใหญ่ผลิตถุงมือผ่าตัด ซึ่งยังไม่มีปัญหาการขาดแคลนในเวลานี้ ประกอบกับ ไทยมีความได้เปรียบด้านต้นทุนในฐานะผู้ส่งออกน้ำยางรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถุงมือผ่าตัด ดังนั้น สำหรับกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ โอกาสที่บริษัทต่างชาติจะย้ายฐานการลงทุนออกจากไทยจึงมีค่อนข้างต่ำ

สำหรับบริษัทต่างชาติที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์นั้น แม้จะมีสัดส่วนเพียง 22% ของบริษัทต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมการลงทุน เพื่อสร้างซัพพลายเชนในการรองรับการลงทุนของบริษัทเครื่องมือแพทย์ไฮเทค ที่รัฐบาลไทยหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบัน กว่า 33% ของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์ที่มาลงทุนในไทยเป็นบริษัทรับจ้างผลิตของสหรัฐฯ และเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของแบรนด์เครื่องมือแพทย์ระดับโลก เช่น ฟิลิปส์ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 และจากผลกระทบของสงครามการค้า เราเคยคาดหวังว่าแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน แล้วไทยก็จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงค์ของการย้ายฐานในครั้งนี้

แต่จากผลกระทบของโควิด 19 ทำให้มีความต้องการเครื่องมือแพทย์ อย่างเครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นสูงมาก จนทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐ ฯ ต้องหันมาช่วยผลิตเครื่องช่วยหายใจให้ได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของการผลิตเครื่องช่วยหายใจอยู่ที่ซัพพลายเชนของชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ที่อยู่ในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่สายการบินลดการขนส่งผู้โดยสารกว่า 90% ทำให้กำลังการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงเกือบ 50% จึงส่งผลให้การขนส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เกิดความล่าช้า และในเวลาวิกฤตที่ในแต่ละวินาทีคือความเป็นความตายของคนในประเทศเช่นนี้ การมีซัพพลายเชนเครื่องมือแพทย์อยู่ในประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุด จากบทเรียนในครั้งนี้ ประเทศสหรัฐฯ และยุโรปจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางสาธารณสุขมากขึ้น และอาจอุดหนุนให้ซัพพลายเชนเครื่องมือแพทย์ทั้งหมดอยู่ในประเทศหรือในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ดังนั้น โอกาสที่ไทยจะได้รับอานิสงค์ในการย้ายฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์เข้ามาในประเทศคงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ในอนาคต บริษัทผู้ผลิตต่างชาติที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์ในไทยอาจลดกำลังการผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ลง เพื่อไปผลิตในภูมิภาคอื่น เช่น เม็กซิโก แต่คงไม่ถึงขั้นย้ายฐานการผลิตออกจากไทย เพราะบริษัทต่างชาติกลุ่มนี้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยเป็นส่วนใหญ่ มีเพียง 20%-30% ของยอดการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์

กล่าวโดยสรุปว่า หลังวิกฤตโควิด 19 โอกาสที่บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในไทยอยู่แล้วจะย้ายฐานการผลิตออกจากไทยมีค่อนข้างต่ำ ทั้งในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์และในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากบริษัทต่างชาติในไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ผลิต PPE ในกลุ่มหน้ากากอนามัย และบริษัทต่างชาติที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์ก็ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตมากกว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์เสียอีก ดังนั้น ผลกระทบของโควิด 19 ต่อการลงทุนที่เกิดขึ้นแล้วจึงมีค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ในมุมมองการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไฮเทคที่รัฐบาลอยากผลักดันให้เกิดการลงทุนขึ้นในอนาคต ไทยคงจะเสียโอกาสที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนใหม่ในการผลิตเครื่องมือแพทย์กลุ่มนี้

แต่ที่สำคัญที่สุด ประเทศไทยก็ควรต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขที่อาจเกิดซ้ำได้อีกในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลจึงควรผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหรรมเครื่องมือแพทย์มากขึ้น ปัจจุบัน บริษัทไทยของเราก็มีศักยภาพในการผลิต PPE และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับโลกอยู่แล้ว รัฐบาลจึงควรมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทไทยผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกลุ่มน้ำยาและชุดตรวจวินิจฉัยโรคให้มากขึ้น เพราะน้ำยาและชุดตรวจวินิจฉัยโรคเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นที่สุดที่จะช่วยจำกัดการระบาดให้อยู่ในวงแคบได้ ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตก็ไม่เกินความสามารถของผู้ประกอบการไทยมากนัก ส่วนการส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัทไทยในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ไฮเทคนั้น ย่อมเป็นสิ่งรัฐบาลไทยควรทำและสามารถทำควบคู่ไปกับการเพิ่มสต๊อกเครื่องมือแพทย์ไฮเทคเผื่อไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกด้วย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยควรอุดหนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest