Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 สิงหาคม 2564

Econ Digest

ปลดล็อก...สินเชื่อส่วนบุคคล

คะแนนเฉลี่ย
วิกฤติโควิด-19 ที่ยืดเยื้อก่อปัญหาปากท้องและหนี้สินในกลุ่มคนชั้นกลางและรากหญ้าในหลายมิติ ซึ่งบทบาทในการให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยของสถาบันการเงินในรอบปีเศษที่ผ่านมา มุ่งเน้นเชิงช่วยลูกค้ารับมือสถานการณ์เฉพาะหน้า ผ่านมาตรการพักหนี้ ยืดหนี้ รวมหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 แบงก์ชาติได้ผ่อนผันเกณฑ์วงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับลูกหนี้รายย่อยที่มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 3 หมื่นบาท ให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและลดการไหลเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ
การผ่อนปรนเกณฑ์สินเชื่อรายย่อยสำหรับลูกค้ากลุ่มรายได้ไม่สูงรอบนี้ มุ่งช่วยเหลือผู้ที่ยังมีความสามารถชำระหนี้ แต่อาจมีรายจ่ายฉุกเฉินเกิดขึ้น หรือรายรับลดลงจากหลายสาเหตุ ทำให้ขาดสภาพคล่องชั่วคราวและมีความจำเป็นต้องใช้เงินด่วน >> ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจะยังมีโอกาสได้รับสินเชื่อเพิ่มจากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี ขอบเขตของการให้สินเชื่อใหม่นี้คงอยู่ในวงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากภาวะความเสี่ยงเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ทำให้ผู้กู้ต้องมีความสามารถชำระหนี้ได้ ไม่มีภาระหนี้สินผูกพันหลายทาง ไม่เป็นเอ็นพีแอล หรือมีสถานะพิเศษที่แสดงผ่านประวัติด้านเครดิต



นัยสำคัญของการปลดล็อกเงื่อนไขการมีสินเชื่อไม่มีประกันได้เพิ่มขึ้น อาจถือเป็นการให้ยาที่ปลอดภัยเพื่อรักษาอาการเฉพาะหน้า ซึ่งต้องมีดุลพินิจและความรอบคอบในการเลือกใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจก่อโทษแก่ผู้ใช้ ฉันใดฉันนั้น การมีแหล่งสินเชื่อในระบบเป็นที่พึ่ง ย่อมดีกว่าไม่มีและต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ แต่เมื่อได้รับสินเชื่อมาแล้วพึงปฏิบัติอย่างมีวินัยเพื่อถนอมโอกาสและช่องทางที่ดีไว้ใช้นาน ๆ ดังนี้ 
บัตรเครดิต: ถ้ารูดแล้วจ่ายเต็มจะตัดจบปัญหาหนี้สินที่ตามมา แต่ถ้ารายรับไม่พอและจำเป็นต้องจ่ายขั้นต่ำ เพื่อเก็บเงินสดไว้สำรองเป็นสภาพคล่องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน >>> ขอให้มีวินัยในการชำระหนี้ ไม่ควรปล่อยให้ผิดนัดชำระติดต่อกันเกิน 3 เดือน 
สินเชื่อมีดอกเบี้ย (อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต 16% และสินเชื่อส่วนบุคคล 25%): จึงควรใช้อย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็น และเมื่อมีเงินก้อนให้รีบโปะลดหนี้ในส่วนที่จ่ายขั้นต่ำอยู่ เนื่องจากหากใช้สินเชื่อในลักษณะหมุนเวียนด้วยการจ่ายขั้นต่ำและรูดบัตร/กดเงินเพิ่มใหม่วนไป จะทำให้ผู้กู้ติดในวังวนหนี้ที่ทับถมสูงขึ้นและยากต่อการปลดภาระหนี้ 
ถ้าเริ่มจ่ายไม่ไหว ให้เร่งติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอความช่วยเหลือ: โดยสามารถสมัครเข้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ขยายเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2564 หรือขอรับความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินในรูปแบบของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายได้อย่างแท้​จริง  
อย่าหนีหนี้: แม้ไม่มีหลักประกัน แต่สัญญาสินเชื่อยังผูกมัดลูกหนี้อยู่ ความเสียหายจากการหนีหนี้มีหลายทางด้วยกัน อาทิ 
>>> ติดแบล็คลิสต์ในเครดิตบูโร เท่ากับหมดโอกาสขอสินเชื่อใหม่จนกว่าสถานะจะเปลี่ยนกลับ 
>>> ถูกเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ (กรณีสถาบันการเงินขายหนี้ให้กับบริษัทติดตามหนี้) ซึ่งเจ้าหนี้ใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จึงเน้นเพียงติดตามทวงถามหนี้ 
>>> ถูกฟ้องบังคับชำระหนี้ หากไม่สามารถประนีประนอมยอมความได้ก่อนขึ้นศาล อาจถูกยึดทรัพย์ได้ทุกอย่างที่มีชื่อเราและที่เป็นทรัพย์มรดก ในกรณีที่ไม่ใช่ข้าราชการและยังมีงานทำ อาจถูกยึดเงินเดือน      

ทุกปัญหามีทางออก อัตราการฉีดวัคซีนของคนไทยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ช่วยให้ความมั่นใจได้ว่าเราจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดได้ในที่สุด  สำหรับปัญหาด้านการเงินส่วนบุคคล ณ เวลานี้ เป็นภาวะที่ได้รับความใส่ใจในระดับชาติ หากเดือดร้อนให้รีบติดต่อเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอความช่วยเหลือและหาทางออกในการแก้ไขหนี้ร่วมกัน หรืออาจขอรับคำปรึกษาจากศูนย์ข้อมูลผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) เพื่อมองหาทางรอดและไปต่อด้วยกัน 
  



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest