Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

กลยุทธ์บริหารซัพพลายเชน Just In Case

คะแนนเฉลี่ย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของซัพพลายเชนโลก เมื่อเกิดปัญหาที่จุดหนึ่งจุดใดของซัพพลายเชน ปัญหาอาจลุกลามจนทำให้ต้องยุติการผลิตตลอดทั้งซัพพลายเชนได้  เห็นได้จากกรณีการปิดเมืองอู่ฮั่นและปิดโรงงานทั้งหมด ในช่วงปลายเดือน ม.ค.-เม.ย. 63 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต้องหยุดการผลิตรถยนต์ตามไปด้วย ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก จึงตระหนักถึงจุดอ่อนของกลยุทธ์  Just In Time อีกทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากโรคระบาดและสงครามการค้า บริษัทผู้ผลิตจึงเริ่มปรับกลยุทธ์การบริหารซัพพลายเชนไปสู่ระบบ Just In Case กันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม  การรักษาประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ผลิตต้องคำนึงถึง ซึ่งอันที่จริงแล้วกลยุทธ์ Just In Case ก็คือกลยุทธ์ Just In Time ที่พิจารณาถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป  ในการประเมินระดับสินค้าคงคลังขั้นต่ำ (Safety Stock) ที่จำเป็นต่อการผลิตใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การบริหารจัดการซัพพลายเชนแบบ Just In Case จะทำให้ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 69,000–165,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 7.8-18.6% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 โดยผู้ใช้บริการคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของธุรกิจคลังสินค้า  ยังไม่มีความจำเป็นสำหรับการขยายพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการเช่าพื้นที่ ยังอยู่ที่ประมาณ 84% ของพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมด หรือมีพื้นที่ว่างอยู่ประมาณ 719,000 ตารางเมตร  อุปทานของคลังสินค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน  จึงยังสามารถรองรับความต้องการพื้นที่คลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับ การลงทุนขยายพื้นที่คลังสินค้ายังมีความเสี่ยงสูง หากเกิดการย้ายฐานการผลิต และเกิดการปรับตัวของซัพพลายเชนขึ้นอีกครั้ง ในระยะข้างหน้า​

แต่เพื่อตอบโจทย์ให้ลูกค้า ผู้ประกอบการคลังสินค้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมจึงควรปรับกลยุทธ์ โดยการให้บริการเสริมต่างๆ เช่น การให้บริการ Vendor Managed Inventory (VMI) หรือบริการการจัดส่งสต็อกสินค้าคงคลังของลูกค้าไปยังโรงงานของลูกค้า ซึ่งการปรับโมเดลธุรกิจเพื่อให้บริการ VMI นั้น ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์ โดยสามารถให้บริการกับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตหลายรายได้ในคลังสินค้าเดียวกัน  (pooled warehouse) อันจะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้าดีขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าได้อีกด้วย







                            

                                                                                                                                                      ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​

   

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest