Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มกราคม 2565

Econ Digest

แนวโน้มสภาพคล่อง ปี 2566 กับหลากปัจจัยกระทบ

คะแนนเฉลี่ย

​ทิศทางการขาดดุลงบประมาณปี 2565-2566 ยังอยู่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด โดยวันที่ 4 ม.ค. 2565 ครม. ได้มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณปี 2566 ซึ่งรัฐฯ ยังคงทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องที่ 6.95 แสนล้านบาท ลดลงจากยอดขาดดุลราว 7.0 แสนล้านบาทในปีงบฯ 2565 แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด โดยการกู้เพิ่มนี้ หลักๆ น่าจะเป็นการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลังมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อระดับสภาพคล่องของตลาดพันธบัตรไทยในภาพรวมจะยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากคาดว่าธปท. จะปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรของธปท. ในปี 2565 ลง และไถ่ถอนพันธบัตรบางส่วนเพื่อคืนสภาพคล่องกลับเข้าสู่ตลาด และเปิดพื้นที่ให้กับปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามแผนการกู้เงินเพื่อรองรับมาตรการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด


แม้จะมีแนวทางช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระดับสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจขยับขึ้นในปี 2565 จาก 2 ปัจจัย คือ ทิศทางขาขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ภาครัฐมีแผนจะออกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และอายุ 10 ปีของไทย อาจขยับสูงขึ้นแตะ 0.80% และ 2.20% ในปี 2565 จากระดับ 0.66% และ 1.90% ณ สิ้นปี 2564 ตามลำดับ


ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2565 ยังน่าจะทรงตัวในระดับสูงและมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อย (แม้การปรับขึ้นอาจไม่สูงเท่าปี 2564) เนื่องจากโควิดที่ยืดเยื้ออาจทำให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เติบโตในกรอบจำกัด และยังน่าจะมีการกอดสภาพคล่องในรูปเงินฝาก อีกทั้ง ธปท. มีแนวโน้มทยอยลดการออกตราสารหนี้เพื่อบรรเทาสภาพคล่องในระบบไม่ให้ตึงตัว ดังนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญต่อทิศทางสภาพคล่องของระบบการเงินไทยปี 2565 จะอยู่ที่สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจต้องระวังการไหลออก โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2565 เนื่องจากเฟดจะคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น หลังยุติมาตรการ QE แต่สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น คาดว่า กนง.มีแนวโน้มยืนอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest