Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤษภาคม 2551

อุตสาหกรรม

ราคาเหล็กและทองแดงที่ผันผวน กระทบต้นทุนอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2170)

คะแนนเฉลี่ย

ราคาโลหะพื้นฐานเช่นเหล็กและทองแดงที่ผันผวนในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของหลายๆอุตสาหกรรม โดยในช่วงที่ผ่านมาราคาเหล็กและทองแดงมีอัตราการขยายตัวสูง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาและมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น จีนและอินเดีย ปัญหาการขาดแคลนพลังงานเชื้อเพลิงและปัญหาราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตที่ขยับสูงขึ้นมาก ปัญหาการกักตุนสินค้าทั้งทางผู้ผลิตและบริษัทที่ซื้อโลหะ รวมถึงมาตรการของทางการจีนในการควบคุมปริมาณการส่งออก โดยการเก็บภาษีส่งออกผลิตภัณฑ์โลหะหลายประเภท และทยอยลดอัตราการคืนเงินภาษีวัตถุดิบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ผลักดันราคาให้สูงขึ้น นอกจากนี้ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศจีนอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาโลหะที่คาดกันว่าจะทรงตัวอาจปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น

ส่วนแนวโน้มราคาเหล็กและทองแดงในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ต่อเนื่องถึงปีหน้า พบว่าราคาเหล็กมีโอกาสสูงขึ้นได้อีกในปีนี้ จากปริมาณการบริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจีนประสบกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และจีนยังมีมาตรการชะลอการส่งออกเหล็กอีกด้วย นอกจากนี้ภาวะขาดแคลนถ่านหิน และราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น เหล่านี้ส่งผลให้แนวโน้มอุปทานของเหล็กในตลาดโลกชะลอตัวลงในปีนี้ ส่วนในปีหน้าคาดว่าระดับราคาน่าจะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีการวิเคราะห์ว่าอุปทานเหล็กในตลาดจะเริ่มตามอุปสงค์ทัน ส่วนราคาทองแดงได้มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากปริมาณทองแดงสำรองที่ลดลงมาก อย่างไรก็ตามคาดว่าการใช้ทองแดงในจีนและสหรัฐฯซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักอาจชะลอลงในระยะเวลาที่เหลือของปี จึงคาดว่าระดับราคาไม่น่าจะขึ้นไปสูงมากจากราคาปัจจุบัน ส่วนในปีหน้าปริมาณสินค้าคงคลังมีโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้นมาก แนวโน้มราคาจึงมีโอกาสจะปรับลดลงได้ ทว่าราคาเหล็กและทองแดงก็มีโอกาสกลับมาปรับสูงขึ้นได้อีกจากปัจจัยสนับสนุน เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคหลัก ปัญหาการประท้วงของคนงานในประเทศชิลีซึ่งเป็นผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ รวมถึงแนวโน้มราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นในระยะยาว ต่างเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อราคาเหล็กและทองแดงในอนาคต

จากที่กล่าวมาเบื้องต้น ราคาเหล็กและทองแดงมีปัจจัยหนุนที่อาจจะทำให้มีแนวโน้มที่ผันผวนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยจนถึงปีหน้า ซึ่งย่อมจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้าง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีการใช้เหล็กและทองแดงเป็นวัตถุดิบสูง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบในการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 700–900 กิโลกรัมต่อคัน ดังนั้นเพื่อรักษาฐานการบริโภค ผู้ผลิตอาจต้องตัดลดอุปกรณ์เสริม options หรือบริการต่างๆออกจากราคามาตรฐานเพื่อคงราคาขายไว้ หรือคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิตรวมถึงลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของรถ ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งมีการใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบมากนั้นเพื่อลดผลกระทบจากราคาเหล็ก อาจต้องหาแนวทางเจรจากันระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาในการช่วยกันรับภาระต้นทุน การขอต่อรองเรื่องการปรับราคาค่าก่อสร้าง หรือให้ลูกค้าเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้างเอง ส่วนภาครัฐอาจช่วยในการปรับสูตรค่าชดเชยต้นทุนก่อสร้างที่สูงขึ้น หรือค่า K ให้มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมีทองแดงบริสุทธิ์เป็นวัตถุดิบสำคัญนอกจากประสบปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น การปรับขึ้นราคาสินค้าก็ทำได้ลำบาก เพราะจะไม่สามารถแข่งขันกับเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกจากจีนได้ จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและใช้วัตถุดิบทดแทนเพื่อจะสามารถผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำลงได้ สร้างจุดขายใหม่ในด้านคุณภาพและรูปแบบสินค้าแทนราคา เป็นต้น ในระยะยาวหากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและการผลิตทองแดงบริสุทธิ์ในประเทศ ก็จะช่วยในการลดต้นทุนการนำเข้าได้ ซึ่งภาครัฐอาจเข้ามามีส่วนช่วยให้การดำเนินการดังกล่าวประสบผลสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม