Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มีนาคม 2552

บริการ

ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต ปี 52 ... ผู้ให้บริการมุ่งแข่งขันกันที่ความเร็ว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2466)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2551 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยมีประมาณ 15.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีประมาณ 13.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24.3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก แต่เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซียก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก อีกทั้งส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง เนื่องจากข้อจำกัดด้านโครงข่ายและเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งยังส่งผลต่อความแตกต่างในด้านความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอีกด้วย สำหรับในปีนี้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2552 จะมีประมาณ 17 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.6 มีปัจจัยสนับสนุนมาจากอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันอยู่ในระดับไม่สูงแล้ว ขณะที่ฐานผู้ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำสามารถเติบโตได้อีก รวมทั้งผู้ให้บริการหลายรายยังขยายการลงทุนในโครงข่ายเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัดมากขึ้น

ภาวะการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ปี 2552 คาดว่าผู้ให้บริการจะยังคงเร่งแข่งขันกันขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากอัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ในเขตเมืองก็คาดว่าผู้ให้บริการจะยังคงออกโปรโมชั่นและกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ รวมทั้งจะหันมาใช้กลยุทธ์แข่งขันกันพัฒนาความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ทำให้อัตราค่าบริการเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 13,000-13,500 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 8-10 ชะลอลงหรือใกล้เคียงกับปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 10 โดยมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคลง ทำให้ในตลาดลูกค้าส่วนบุคคลจำนวนลูกค้าใหม่อาจเติบโตในระดับไม่สูงนัก

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของตลาดองค์กรคาดว่าจะยังมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากปัจจุบันอินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจและช่วยลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม รวมทั้งในตลาดการศึกษาที่มีการลงทุนด้านระบบอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาเอกชนที่ให้ความสำคัญกับระบบอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ราคาแบนด์วิดท์ในปีนี้มีแนวโน้มลดลง โดยราคาเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท/Mbps/เดือน ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท/Mbps/เดือน ทำให้ต้นทุนของผู้ให้บริการมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านระบบ WiMAX และโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ซึ่งหลังการเปิดให้บริการคาดว่าจะทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก รวมทั้งจะส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งคาดว่าจะส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตด้วย เนื่องจากความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สายจะใกล้เคียงกันมากขึ้น ภาวะการแข่งขันในตลาดจึงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นกว่าปัจจุบันและจะส่งผลดีต่อเนื่องมายังผู้บริโภคทั้งในแง่ของบริการและอัตราค่าใช้บริการด้วย

ระบบอินเทอร์เน็ตถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อหลายภาคส่วน ทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น กระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมไอซีที เป็นต้น รวมทั้งด้านสังคม เช่น ขยายโอกาสทางการศึกษา พัฒนาระบบสาธารณสุขทางไกล เป็นต้น ดังนั้น นโยบายของภาครัฐควรมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและกระจายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาออกใบอนุญาต WiMAX และ 3G ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรควบคุมให้อัตราค่าบริการเป็นไปอย่างเหมาะสมและสะท้อนต้นทุนการดำเนินงานอย่างแท้จริง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ