Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 สิงหาคม 2554

อุตสาหกรรม

ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์...สมาร์ทโฟน & Tablet ยังเป็นแรงหนุน แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2261)

คะแนนเฉลี่ย

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงครึ่งหลังปี 2554 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงที่เหลือของปี 2554 นี้ น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ตลาดจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลที่คำสั่งซื้อมักเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดที่จะเริ่มเข้าสู่เทศกาลการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนทั่วโลกช่วงปลายปี ประกอบกับคาดว่า อุตสาหกรรมการผลิตในญี่ปุ่นน่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์น่าจะกลับมาดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่สำคัญๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป ที่รัฐบาลกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะ ก็อาจจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ และจะส่งผลต่อยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ก็ส่งผลต่อความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง ซึ่งหากในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯกลับเข้าสู่ภาวะอ่อนแออีกครั้ง ก็อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีต่อเนื่องถึงปี 2555 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2554 นี้ จะมีมูลค่าประมาณ 33,775-34,750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5-.5.5 เมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 21.9 ในปี 2553

สำหรับแนวโน้มตลาดในระยะข้างหน้าที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะปัจจุบันนี้สินค้าไอทีหลายประเภทกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อให้สินค้ามีคุณสมบัติการใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้าบางประเภทก็อาจจะลดบทบาทลง เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop PC) ที่ถูกทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา Tablet และในระยะข้างหน้าเมื่อการพัฒนาระบบเน็ตเวิร์ค และเทคโนโลยี Cloud Computing มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดตั้งโต๊ะในระยะข้างหน้าได้ นอกจากนี้ระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ได้หันมาผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่ต้องปรับเปลี่ยนตามมา นอกจากนี้

กฎหมายยุโรปออกมาบังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ เช่น แอร์แบค อุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือน อุปกรณ์วัดแรงดันเครื่องยนต์ เมมส์[1] (Micro Electro Mechanical Systems) จึงเป็นหัวใจสำคัญ

ดังนั้น เพื่อมิให้สูญเสียโอกาสตลาด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย คงจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับผลิตภัณฑ์เข้าหาตลาดที่มีอนาคตเติบโต เพื่อที่จะยกระดับตนเองในการที่จะเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก


[1] เมมส์หรือระบบไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาค เป็นอุปกรณ์หรือระบบที่มีขนาดเล็กในระดับไมโครเมตร (10-6 เมตร) ประกอบด้วยระบบไฟฟ้าและระบบกลไกเชิงกลซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางด้านสารกึ่งตัวนำ แบบเดียวกับที่ใช้ในการผลิตวงจรรวม หรือ ไอซี แต่อุปกรณ์เมมส์จะแตกต่างไปจากอุปกรณ์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอื่นตรงที่เมมส์สามารถทำหน้าที่เชิงกลได้ เช่น เซ็นเซอร์ (sensors) และแอ็กชูเอเตอร์ (actuators) ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่นเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยียานยนต์เทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ เครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ชนิดอื่นๆ ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม