Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 กุมภาพันธ์ 2557

อุตสาหกรรม

ธุรกิจฟาสต์ฟูดปี' 57 เผชิญแรงกดดัน ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว ต้นทุนผู้ประกอบการพุ่งสูง และสถานการณ์การเมือง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2469)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดก็ยังคงมีทิศทางขยายการลงทุนผ่านการขยายสาขาและขยายการให้บริการ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลัก รวมถึงต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรองต่างๆ โดยพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีข้อจำกัดในด้านการหาทำเลที่ตั้งสาขาใหม่ๆ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดในบางสาขาที่มีทำเลที่ตั้งของร้านเป็นแบบ Stand Alone จึงมุ่งเน้นขยายการให้บริการทดแทน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการให้บริการ 24 ชั่วโมง การให้บริการแบบ Drive-through รวมถึงการให้บริการจัดส่งอาหารโดยการสั่งผ่านช่องทางออนไลน์และแอพพลิเคชั่น

สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดก็ยังมีทิศทางขยายสาขาไปในจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลักและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ สำหรับในส่วนของต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรองต่างๆนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดก็ยังคงมีทิศทางขยายสาขาตามการขยายสาขาของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบจากการเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆที่เข้าไปประกอบธุรกิจและขยายฐานลูกค้าใหม่ในพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดยังมีแนวโน้มขยายสาขาไปตามสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ในเส้นทางหลักสำหรับการเดินทางไป-กลับต่างจังหวัดในรูปแบบร้าน Stand Alone รวมถึงเพิ่มเติมการให้บริการแบบ Drive-through เพื่อตอบโจทย์ในด้านจุดบริการอาหารระหว่างการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า ในปี 2557 นี้ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดก็ยังทำการตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดก็ยังต้องเผชิญความท้าทายในระยะสั้น ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ต้นทุนการประกอบธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่พุ่งสูงขึ้น และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ด้านการเมือง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2557 นี้ ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 30,600 - 31,200 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2556 ที่คาดการณ์ว่าธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 29,000 ล้านบาท หรือเติบโตอยู่ในกรอบร้อยละ 5.7 - 7.8

การเติบโตของมูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดอย่างต่อเนื่อง ย่อมดึงดูดผู้เล่นรายใหม่ๆเข้าสู่ตลาด ในขณะที่ลูกค้ามีทางเลือกในการรับประทานอาหารที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต จึงอาจส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้นในการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด แม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดจะมุ่งขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดเพื่อช่วงชิงพื้นที่จากคู่แข่งขันและขยายฐานลูกค้าใหม่ๆก็ตาม แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ยังมองว่า คู่แข่งขันที่มากขึ้นอันเนื่องมาจากผู้เล่นรายใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่กำหนดตำแหน่งในการแข่งขันของตนเองให้อยู่ในระดับเดียวกันกับร้านอาหารฟาสต์ฟูด กล่าวคือ เป็นร้านอาหารบริการตนเองที่มีความสะดวกรวดเร็ว ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกับร้านอาหารฟาสต์ฟูด ในขณะที่ชูจุดเด่นในด้านความแปลกใหม่ของเมนูอาหาร มีเมนูอาหารให้เลือกอย่างหลากหลาย รวมถึงยังปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ผ่านขั้นตอนการปรุงที่พิถีพิถัน ประกอบกับทางเลือกในการรับประทานอาหารที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง รวมถึงอาหารพร้อมทาน เช่น อาหารแช่แข็ง ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านค้าสะดวกซื้อทั่วไปและมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน รวมถึงกำลังซื้อของคนในพื้นที่ต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรอง ซึ่งพบว่ายังไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับคนในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลัก ล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายในระยะยาวที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดจำเป็นต้องจับตามอง เพื่อนำมาสู่การกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขันในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม