Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 เมษายน 2548

อุตสาหกรรม

ตลาดเหล็กไทย ... เป้าหมายที่ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างญี่ปุ่นหมายตา

คะแนนเฉลี่ย

การเจรจาเพื่อเปิดเขตการค้าเสรีหรือFTAระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ได้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทยโดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากทางฝ่ายญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ไทยดำเนินการเปิดเสรีนำเข้าเหล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กแผ่นรีดร้อน โดยในเบื้องต้นทางญี่ปุ่นได้ขอให้ไทยลดภาษีนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนลงเหลือร้อยละ 0 ในทันที ในขณะที่ทางฝ่ายไทยได้เสนอที่จะคงภาษีเหล็กแผ่นรีดร้อนไว้ที่ระดับปัจจุบันคือร้อยละ 7.0 - 9.5 เป็นเวลา 10 ปี และจะเริ่มทยอยลดภาษีในปีที่ 11 จนเหลือร้อยละ 0 ในปีที่ 15 เหตุผลสำคัญที่ทางฝ่ายไทยได้มีข้อเสนอในลักษณะดังกล่าวก็เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่เพิ่งจะอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากภาวะซบเซาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้ภาครัฐของไทยก็มีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตที่ครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำหรือการจัดสร้างโรงถลุงเหล็กในประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอุปทานและราคาเหล็กในประเทศในระยะยาว

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังดำเนินการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างครบวงจร ซึ่งรวมทั้งการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำหรือโรงถลุงเหล็ก พร้อมๆไปกับให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกลางน้ำ อันได้แก่ เหล็กแท่งยาว(Billet) เหล็กแท่งแบน(Slab) เป็นต้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมเหล็กปลายน้ำ อันได้แก่ผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่างๆ อาทิ เหล็กเส้น เหล็กรูปพรรณ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบชนิดต่างๆ ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการจะดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆที่จะมีการขยายตัวพร้อมๆไปกับการเติบโตของภาคเศรษฐกิจโดยรวม

ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศประมาณปีละ 12-13 ล้านเมตริกตัน โดยเป็นการผลิตในประเทศประมาณร้อยละ 60 และอีกกว่าร้อยละ 40 หรือประมาณ 5.4 ล้านเมตริกตันเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กจากต่างประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 3 ล้านเมตริกตันเป็นการนำเข้าเหล็กแผ่นประเภทต่างๆ ทั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่านำเข้ากว่า 2,503 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2547 ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีของเหล็กแผ่น ในปี 2547 ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นเกือบ 1,582 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72.59 ของมูลค่านำเข้าเหล็กแผ่นทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ในขณะที่แหล่งนำเข้าเหล็กแผ่นใหญ่อันดับสองของไทย คือเกาหลีใต้ ซึ่งการนำเข้าของไทยมีมูลค่าเพียง 216 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 9.9 ของมูลค่านำเข้าเหล็กแผ่นทั้งหมดของไทย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยปริมาณส่งออกมากกว่า 35 ล้านเมตริกตันต่อปี จึงมีเป้าหมายที่จะขยายการส่งออกมายังประเทศไทยซึ่งปัจจุบันยังต้องนำเข้าเหล็กประมาณปีละ 5-6 ล้านเมตริกตัน โดยที่อุตสาหกรรมยานยนต์จากค่ายรถญี่ปุ่นในไทยเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่ใช้เหล็กแผ่นนำเข้าจากญี่ปุ่น ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มการนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภาวะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม