Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 ตุลาคม 2548

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ทิศทางธุรกิจก่อสร้างครึ่งหลังปี 2548 และปี 2549

คะแนนเฉลี่ย

ในระยะที่ผ่านมา ธุรกิจก่อสร้างมีอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดยได้รับแรงผลักดันสำคัญจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเฟื่องฟู ขณะที่รัฐบาลเริ่มกลับมาเดินหน้าแผนการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่ในปี 2548 การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงตามภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นจากการลงทุนในโครงการต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ อาจเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจก่อสร้างโดยรวมจะยังมีอัตราการขยายตัวสูงได้อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจจะมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 7.3 อ่อนตัวลงจากร้อยละ 9.4 ในช่วงครึ่งปีแรก ตามภาวะการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะความต้องการที่อยู่อาศัย ขณะที่การลงทุนในโครงการก่อสร้างของภาครัฐอาจขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 14.1 ในช่วงครึ่งแรก โดยน่าจะได้รับผลจากแรงกระตุ้นที่รัฐบาลให้หน่วยงานราชการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนในด้านการก่อสร้างตลอดทั้งปี 2548 มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 12 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 13 ในปี 2547 โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 705,000 ล้านบาท เทียบกับมูลค่า 600,036 ล้านบาทในปี 2547

สำหรับปี 2549 คาดว่าการชะลอตัวในธุรกิจที่อยู่อาศัยอาจยังคงดำเนินต่อไป ภายใต้วัฏจักรขาขึ้นของทิศทางอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกอาจมาจากการอ่อนตัวลงของภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่น่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปี 2548 ซึ่งอาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจจะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณร้อยละ 8 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2548 ในด้านการก่อสร้างของภาครัฐ ถ้าในกรณีที่โครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐสามารถดำเนินการให้คืบหน้าได้ตามเป้าหมาย การลงทุนของภาครัฐอาจมีโอกาสที่จะขยายตัวเร่งขึ้นเกินกว่าร้อยละ 20 เทียบกับคาดการณ์อัตราขยายตัวในปี 2548 ที่ร้อยละ 15.7 ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้นที่อัตราประมาณร้อยละ 15 ในปี 2549 หรือมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 850,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าโครงการลงทุนของภาครัฐน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้การลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ไปได้จนถึงปี 2550 และเริ่มชะลอลงมามีอัตราการขยายตัวได้เล็กน้อยในปี 2551 ก่อนที่จะหดตัวลงในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่มูลค่าโครงการลงทุนของรัฐอาจจะปรับลดลงในช่วงท้ายของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ นอกจากนี้ในส่วนของโครงการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบราง หรือโครงการรถไฟฟ้าคงจะมีการดำเนินโครงการในด้านงานโยธาเสร็จสิ้นไปหลายส่วน และน้ำหนักจะเริ่มไปอยู่ที่งานระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในระหว่างปี 2550-2552 การก่อสร้างของภาครัฐอาจมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 550,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะสนับสนุนให้การลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศอาจจะมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 1,000,000 ล้านบาทต่อปี หรือมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 4 ต่อปี

การเติบโตในธุรกิจก่อสร้างจะก่อให้เกิดผลเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมีการเติบโตในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในด้านราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนในด้านการก่อสร้างคาดว่าจะยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ผู้ประกอบการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์จะได้รับปัจจัยบวกจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างโดยรวมที่จะค่อนข้างทรงตัว ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2548 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ที่สำคัญเป็นผลจากการอ่อนตัวลงของราคาปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็ก แต่ผู้ประกอบการก็คงจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านอื่นๆ ซึ่งดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิตโดยเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 9.5 ประกอบกับแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปีอาจจะยังได้รับแรงกดดันจากต้นทุนด้านพลังงานที่มีโอกาสที่จะสูงขึ้นอีก ขณะที่วัสดุก่อสร้างหลัก เช่น ปูนซีเมนต์ แม้ในระยะสั้นอาจยังมีแนวโน้มอ่อนตัว ตามการชะลอตัวลงของภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์และเป็นช่วงนอกฤดูกาลก่อสร้าง แต่ราคามีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ของรัฐเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้ว่าธุรกิจก่อสร้างจะได้ประโยชน์จากปริมาณงานโครงการก่อสร้างที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็มีแรงกดดันในด้านต้นทุนที่สูงขึ้น การบริหารต้นทุนจึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างในระยะปีข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง