Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 มกราคม 2549

เกษตรกรรม

กุ้งและผลิตภัณฑ์ปี'49 : ส่งออกสดใส...ปัจจัยหนุน 3 ตลาดหลัก

คะแนนเฉลี่ย

กุ้งและผลิตภัณฑ์จะเป็นสินค้าส่งออกดาวเด่นอีกครั้งในปี 2549 เนื่องจากหลากปัจจัยเกื้อหนุนทั้งในด้านการผลิตและการส่งออก ในปี 2549 คาดว่าไทยจะสามารถผลิตกุ้งได้ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับในปี 2548 ทั้งนี้เนื่องจากทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการเลี้ยงกุ้ง โดยคาดการณ์ว่าอนาคตการส่งออกกุ้งในปี 2549 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 โดยการผลิตฟื้นตัวจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสึนามิที่มีต่อโรงเพาะฟักกุ้ง ในขณะที่คาดว่าปริมาณการผลิตกุ้งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่เผชิญปัญหาโรคระบาดและสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ ราคากุ้งตกต่ำและปัญหาการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างปัญหาอย่างมากกับผู้ส่งออก โดยเฉพาะอินเดียที่อาจจะงดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯในปี 2549 ปัญหาในด้านการผลิตดังกล่าวนั้นเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากปี 2548 โดยประเทศคู่แข่งขันของไทยที่ประสบปัญหาคือ จีน อินโดนีเซีย บราซิล และเอกวาดอร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในธุรกิจกุ้งของไทยยังคงต้องจับตาคู่แข่งขันสำคัญรายอื่นๆ คือ เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก โดยเฉพาะเวียดนามนั้นคาดว่าในปี 2549 ผลผลิตกุ้งของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 132,250 ตัน แยกเป็นกุ้งกุลาดำ 120,000 ตัน และกุ้งขาว 12,250 ตัน เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่มีผลผลิตกุ้ง 115,000 ตันแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของผลผลิตกุ้งขาวจากพื้นที่การเลี้ยงในภาคกลางของประเทศ ส่วนผลผลิตกุ้งกุลาดำนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา

สำหรับการส่งออกในปี 2549 ได้ตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกเป็น 450,000 ตัน มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่คาดว่าจะมีการส่งออก 418,000 ตัน มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และ 20.0 ตามลำดับ โดยจะเน้นการพัฒนาคุณภาพเรื่องการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการผลิตกุ้งของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และเปลี่ยนสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งจากเดิมกุ้งแช่แข็งคิดเป็นร้อยละ 65.0 และกุ้งแปรรูปร้อยละ 35.0 เป็นการส่งออกกุ้งแช่แข็งร้อยละ 35.0 และกุ้งแปรรูปร้อยละ 65 ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการส่งออกกุ้งของไทย รวมทั้งยังเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศที่หันมานิยมบริโภคกุ้งแปรรูปมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าในต่างประเทศหันมานิยมซื้อผลิตภัณฑ์กุ้งจากร้านจำหน่ายปลีกเพื่อนำไปประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น

ปัจจัยหนุนสำคัญคือ การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างชัดเจน จากที่ไทยได้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ทำให้สถานะการแข่งขันของไทยในตลาดสหภาพยุโรปดีขึ้น ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯไทยก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาต้องวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก ซึ่งเป็นภาระทำให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้นและสภาพคล่องของผู้ส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามคาดว่ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกสำคัญทุกตลาดไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งผู้ส่งออกต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง

ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากการที่การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งมีแนวโน้มแจ่มใสคือ อุตสาหกรรมอาหารกุ้ง ธุรกิจเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง ธุรกิจห้องเย็น ธุรกิจเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องใช้งานในฟาร์มเพาะเลี้ยง รวมไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เนื่องจากคาดว่าราคากุ้งจะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นจากภาวะการส่งออกที่แจ่มใส ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์กุ้งประมาณร้อยละ 70.0 ของผลิตภัณฑ์กุ้งที่ผลิตได้ทั้งหมดนั้นต้องพึ่งพาตลาดส่งออก

อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2549 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่ต้องพึงระวัง และทั้งผู้ส่งออกและภาครัฐต้องเร่งปรับตัวเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดขึ้นกันต่อไป กล่าวคือ

-การส่งออกไปยังสหรัฐฯต้องมีการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก(Continuous Bond) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ/ห้องเย็น และส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำลงในช่วงปลายปี 2548 ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังเจรจากับสหรัฐฯและอาจจะมีการดำเนินการฟ้องร้องกับองค์การการค้าโลก เนื่องจากถือว่าสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งอาจจะมีผลทำให้สหรัฐฯทบทวนการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออก

-การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยต่างก็เผชิญกับปัญหาการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯจึงหันมาส่งออกกุ้งไปยังสหภาพยุโรป

-การขยายการส่งออกกุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่น ผู้เลี้ยงกุ้งไทยต้องปรับระบบการเลี้ยง เนื่องจากญี่ปุ่นนิยมบริโภคกุ้งขนาดใหญ่ ซึ่งไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากอินเดียที่ระบบการเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่ยังเป็นการเลี้ยงระบบธรรมชาติ(Extensive System) รวมทั้งยังต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยหันมาขยายการส่งออกในตลาดญี่ปุ่นทดแทนที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯลดลง

-การขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะแคนาดา ออสเตรเลีย และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีแนวโน้มนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งเพิ่มขึ้นนั้น ผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญคือ เวียดนามซึ่งมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วเมื่อต้องเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของเวียดนามหันไปเจาะขยายตลาดใหม่ๆ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของเวียดนามไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.0 ออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0 ในปี 2547 และร้อยละ 37.0 ในปี 2548 ในตลาดแคนาดาการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของเวียดนามก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 หลังจากที่เคยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 241.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากปัญหาในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในตลาดส่งออกสำคัญและการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆแล้ว ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งยังต้องระมัดระวังปัญหาสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าอาจใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ซึ่งปัจจุบันประเทศผู้เลี้ยงกุ้งในบางประเทศหันมาสนใจเลี้ยงกุ้งในลักษณะกุ้งอินทรีย์หรือเลี้ยงกุ้งโดยเน้นความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยเฉพาะการไม่ใช้ยาหรือเวชภัณฑ์ในการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งนับว่าเป็นทางเลือกใหม่สำหรับประเทศผู้นำเข้ากุ้งที่ไทยจะต้องจับตามองเช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม