Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มีนาคม 2550

เกษตรกรรม

ราคาสุกรตกต่ำ : ข่าวร้ายผู้เลี้ยงสุกร...ข่าวดีผู้บริโภค (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1954)

คะแนนเฉลี่ย
ข่าวการฆ่าลูกสุกรจำนวน 1,500 ตัว ที่หน้าสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นการประท้วงของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำ โดยอ้างว่าเป็นการตัดวงจร ช่วยลดปัญหาการขาดทุน นับว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาธุรกิจฟาร์มสุกรที่เผชิญปัญหาในช่วงวัฏจักรราคาสุกรตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง
ปัญหาปริมาณสุกรล้นตลาดเริ่มตั้งเค้ามาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ซึ่งสาเหตุของปัญหา มีดังนี้ ปริมาณการผลิตสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 นับเป็นมูลเหตุจูงใจสำคัญให้เกษตรกรขยายปริมาณการเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้น ปริมาณการบริโภคสุกรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ในขณะที่ปริมาณการผลิตสุกรยังคงเพิ่มขึ้นมาก แม้จะมีข่าวการตรวจพบไข้หวัดนกรอบใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2549 โดยผู้บริโภคยังคงบริโภคเนื้อและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกตามปกติ ประกอบกับปริมาณการผลิตไก่เนื้อและไก่ไข่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเนื้อไก่และไข่ไก่มีราคาถูกลงด้วย ทำให้ผู้บริโภคยังคงเลือกที่จะบริโภคเนื้อไก่และไข่ไก่ ซึ่งมีราคาต่อหน่วยถูกกว่าเนื้อสุกร มูลค่าการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ลดลงในปี 2549 การที่ราคาสุกรในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ แม้ว่าเมื่อพิจารณามูลค่ารวมของการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ในปี 2549 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2548 แต่เมื่อพิจารณาการส่งออกแต่ละผลิตภัณฑ์จะเห็นได้ว่ามีเพียงเนื้อสุกรใส่เกลือ แห้งหรือรมควัน และเนื้อสุกรปรุงแต่งเท่านั้นที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว ส่วนมูลค่าการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และส่วนอื่นๆของสุกรที่บริโภคได้สดแช่เย็นแช่แข็งมีแนวโน้มลดลง มูลค่าการนำเข้าสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มลดลง มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใน เนื้อสุกรใส่เกลือ แห้งหรือรมควัน และเนื้อสุกรปรุงแต่ง นับว่าเป็นปัจจัยทางอ้อมที่กดราคาสุกรและผลิตภัณฑ์ในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มหันไปนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์สุกรนำเข้า
ในช่วงต้นปี 2550 กระทรวงเกษตรฯ กลุ่มผู้เลี้ยงและบริษัทที่ทำธุรกิจครบวงจร วางแนวทางแก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำ โดยกำหนดมาตรการเร่งด่วน โดยขอความร่วมมือให้ตัดปริมาณลูกสุกรออกจากระบบประมาณ 40,000 ตัว/เดือน และให้ทำลายลูกสุกร 1 ตัวต่อคอก ขอความร่วมมือให้เกษตรกรปลดแม่สุกรจำนวน 100,000 ตัว หลังจากให้ลูกครอกที่ 5 และตัดแม่สุกรร้อยละ 10 ออกจากระบบ ปรับลดปริมาณโดยนำลูกสุกร 100,000 ตัวมาทำหมูหัน รวมทั้งเก็บสุกรขุนประมาณ 30,000 ตัวเข้าห้องเย็นเพื่อนำไปแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ และผลักดันให้ภาคเอกชนส่งออกเนื้อหมูปรุงสุกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ทางกระทรวงพาณิชย์เปิดตลาดจำหน่ายเนื้อหมู 2 กก./100 บาท คาดว่าจะสามารถการแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำก็น่าจะยุติลงได้ภายในช่วง 8 เดือนต่อจากนี้ไป(ประมาณเดือนสิงหาคม 2550) และจะสามารถทำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรทั้งรายย่อยและรายใหญ่อยู่รอดได้
อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่ราคาสุกรกลับมาสูงอีกครั้งหนึ่ง ก็มีแนวโน้มว่าบรรดาผู้เลี้ยงสุกรจะหันมาขยายการผลิตและก็จะเกิดปัญหาสุกรล้นตลาดอีก นับว่าเป็นวัฏจักรสุกรที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งแนวทางที่จะดำเนินการได้คือ การร่วมมือกันอย่างจริงจังในการควบคุมปริมาณการผลิตสุกรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการเร่งปรับประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนอาหารสัตว์ และการเร่งผลักดันให้มีการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันปริมาณการส่งออกนั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของปริมาณการผลิตสุกรทั้งหมด ดังนั้นการเร่งผลักดันการส่งออกจะเป็นการสร้างตลาดของผลิตภัณฑ์สุกรให้ขยายวงกว้างขวางมากขึ้น แทนการพึ่งพิงเฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม