Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 พฤษภาคม 2550

เกษตรกรรม

ข้าวนึ่งไทย : ตลาดส่งออก...มูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท/ปี (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1986)

คะแนนเฉลี่ย
ข้าวนึ่ง (parboiled rice) เป็นข้าวส่งออกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจทั้งในการขยายตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันข้าวนึ่งที่ผลิตได้นั้นพึ่งพิงการส่งออกทั้งหมด และการส่งออกข้าวนึ่งของไทยนั้นมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากคู่แข่งดั้งเดิมอย่างอินเดีย ปากีสถาน รวมทั้งยังมีคู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามาแข่งขันแย่งตลาดข้าวนึ่ง คือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้า ดังนั้นการที่จะรักษาตลาดข้าวนึ่งของไทยไว้นั้นจึงต้องเร่งพัฒนาข้าวนึ่งให้เป็นข้าวนึ่งคุณภาพสูงเพื่อเจาะขยายตลาดในต่างประเทศที่ยังคงเติบโตเนื่องจากความต้องการบริโภคข้าวนึ่งยังขยายตัว อันเป็นผลจากกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ โดยค้นพบว่าข้าวนึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวขาว โดยมีวิตามินบีและวิตามินอีสูงกว่าข้าวขาวพันธุ์เดียวกัน นอกจากนี้การเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อการขยายตลาดในประเทศควบคู่กันไปด้วยก็เป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศทั้งหมด
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยผู้บริโภคในต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคข้าวนึ่งกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าข้าวนึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าการบริโภคข้าวขาว ทั้งนี้เพราะไม่ได้รับการขัดสีเอาส่วนที่มีประโยชน์ออกไปมากเหมือนกับข้าวขาว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคนี้ทำให้ตลาดข้าวนึ่งในตลาดโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โอกาสในการขยายตลาดส่งออกข้าวนึ่งของไทยนั้นยังมีความเป็นได้มาก
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไทยยังไม่มีการรวบรวมจำนวนโรงสีที่ผลิตข้าวนึ่ง ทำให้ยังไม่มีการเก็บข้อมูลปริมาณการผลิตข้าวนึ่งในแต่ละปี นอกจากนี้ในการส่งออกนั้นควรมีการแยกการส่งออกข้าวนึ่งตามเกรดเช่นเดียวกับการส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ ซึ่งปัจจุบันก็มีการกำหนดมาตรฐานข้าวนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้นการแยกพิกัดการส่งออกข้าวนึ่งก็น่าจะทำได้ไม่ยากนัก ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแยกข้อมูลรายละเอียดข้าวนึ่งตามเกรดข้าวจะทำให้ทราบความต้องการที่ชัดเจนของแต่ละตลาด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละตลาด นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมการเจาะขยายตลาดต่อไปในอนาคต นอกจากนี้จากการศึกษาตลาดข้าวนึ่งในสหรัฐฯและสหภาพยุโรปนั้นมีการแบ่งแยกตลาดข้าวนึ่งอย่างละเอียด ทำให้เห็นถึงสภาพการแข่งขันและสภาพความต้องการของแต่ละประเทศที่นำเข้าข้าวจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปอย่างชัดเจน รวมทั้งสหรัฐฯยังมีข้อมูลเกี่ยวกับตลาดที่จะเจาะขยายตลาดข้าวนึ่งต่อไป คือ ตลาดประเทศในแอฟริกาและตลาดประเทศในตะวันออกกลาง ส่วนสหภาพยุโรปเน้นเจาะตลาดรัสเซีย ประเทศต่างๆที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต รวมทั้งประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศต่างๆที่ทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปต้องการเจาะขยายตลาดข้าวนึ่งนั้นก็เป็นประเทศเป้าหมายในการเจาะขยายตลาดของไทยเช่นกัน ดังนั้นการส่งออกข้าวนึ่งของไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้นการส่งเสริมในด้านการผลิตข้าวนึ่งให้ตรงตามความต้องการของตลาดและการรับรู้พฤติกรรมการบริโภคข้าวนึ่งของแต่ละตลาดจะเป็นแต้มต่อในการเจาะขยายตลาด
นอกจากนี้การส่งเสริมการบริโภคข้าวนึ่งในประเทศนับว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจข้าวนึ่งของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการลดการพึ่งพิงตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว ปัญหาในการส่งเสริมการบริโภคข้าวนึ่งในประเทศ คือ ข้าวนึ่งมีกลิ่นและรสไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับข้าวธรรมดาเช่นคนไทย แต่สามารถแก้ไขได้โดยการส่งเสริมให้บริโภคข้าวนึ่งคุณภาพดีที่เมื่อหุงสุกแล้วข้าวมีกลิ่นน้อยกว่าข้าวนึ่งที่ผลิตโดยเทคโนโลยีดั้งเดิม รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้บริโภคโดยอิงกระแสสุขภาพ กล่าวคือ ข้าวนึ่งนั้นมีวิตามินบีและวิตามินอีสูงกว่าข้าวธรรมดาพันธุ์เดียวกัน และข้าวนึ่งยังย่อยง่ายกว่าข้าวธรรมดา อันเป็นผลมาจากแป้งในข้าวสุกไปครั้งหนึ่งแล้วในขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้ที่มีแนวโน้มจะนิยมบริโภคข้าวนึ่งคือ ผู้ที่นิยมบริโภคข้าวที่เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดร่วน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม