Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 สิงหาคม 2550

อุตสาหกรรม

วิกฤติเงินบาทแข็งค่า : อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับตัว (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2025)

คะแนนเฉลี่ย
ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะที่ผ่านมา เริ่มมีธุรกิจส่งออกบางรายที่ประสบปัญหาขาดทุนและขาดสภาพคล่อง ประกาศเลิกกิจการและเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งบางโรงงานมีการจ้างงานหลายพันคน และมีแนวโน้มที่ว่าจะยังมีธุรกิจที่อาจจะต้องปิดตัวลง และธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังอีกจำนวนไม่น้อย ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาเป็นลูกโซ่ และอาจทวีความรุนแรงขึ้น หากปล่อยให้ค่าเงินของไทยแข็งค่าขึ้นรวดเร็วเกินไป ทั้งในด้านผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ปัญหาการจ้างงาน ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบสถาบันการเงิน และนำไปสู่การชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องหนัง ประสบปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยเสียเปรียบในด้านต้นทุนแรงงานเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า เช่น จีน อินเดียและ เวียดนาม ขณะที่ภาวะการแข็งค่าเงินบาทเข้ามาเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจที่ประสบปัญหาอยู่แล้วต้องหยุดกิจการลง
นอกเหนือจากปัจจัยที่มีผลกระทบในระดับอุตสาหกรรมแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจัยเฉพาะตัวของบริษัทก็มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ดังที่เห็นได้จากในธุรกิจสิ่งทอหรือรองเท้าที่มีการปิดโรงงานหลายแห่ง แต่ผู้ผลิตหลายรายในธุรกิจนี้ก็ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นสิ่งที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันประกอบด้วยปัจจัยหลายด้าน เช่น ระดับราคาและต้นทุน คุณภาพมาตรฐานของสินค้า ประสิทธิภาพในการส่งมอบสินค้า ในตลาดที่แข่งขันกันด้วยราคา ผู้ผลิตจำเป็นต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง หรืออีกนัยหนึ่ง จะต้องเพิ่มผลผลิต (Output) จากปัจจัยการผลิตที่ใส่เข้าไปแต่ละหน่วย (Input Factor) การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตของธุรกิจไทยให้เหนือกว่าคู่แข่ง จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ไทยแข่งขันได้ในตลาดสินค้าเดียวกันกับผู้ผลิตจากประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า
ธุรกิจที่ถูกกระทบจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงาน เช่น สิ่งทอ รองเท้า เครื่องหนัง หรืออุตสาหกรรมที่พึ่งพาเทคโนโลยีเช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) และเน้นตลาด Mass ที่อาศัยการผลิตล็อตขนาดใหญ่ ซึ่งมักขาดอำนาจต่อรองและถูกกดดันในด้านราคาจากผู้ซื้อโดยตลอด อีกทั้งเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน แต่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ได้ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ ความสำเร็จของกระบวนการปรับตัว เช่น หันไปผลิตสินค้าที่เน้นการออกแบบและมีมูลค่าสูง มีการสร้างแบรนด์สินค้า มีระบบการผลิตที่ยืดหยุ่น สามารถผลิตล็อตขนาดเล็กแต่หลายโมเดลได้ ซึ่งตลาดนี้จะมีคู่แข่งน้อยรายและมีราคาต่อหน่วยที่สูงกว่า
ท่ามกลางสภาวการณ์ที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแนวทางปรับตัว เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้พลวัตรของการแข่งขันในเวทีโลกยุคโลกาภิวัฒน์และย่างก้าวไปสู่โลกแห่งการค้าเสรีนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม