Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 สิงหาคม 2566

บริการ

ธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2566 คาดขยายตัวร้อยละ 7.1 ขณะที่ในระยะข้างหน้า การบริหารจัดการอาหารเหลือทิ้ง นอกจากช่วยลดต้นทุนยังสอดคล้องไปกับเป้าหมาย Net Zero (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3429)

คะแนนเฉลี่ย

        ในช่วงที่เหลือของปี ธุรกิจร้านอาหาร คาดว่าจะยังมีทิศทางเติบโต โดยเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยว และเทศกาลวันหยุดยาว ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 4.35 แสนล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 7.1 อย่างไรก็ดี การขยายตัวของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารยังไม่ทั่วถึง และผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่ยังเผชิญโจทย์ท้าทาย อาทิ การแข่งขันที่รุนแรงในทุกเซ็กเมนต์และระดับราคา ต้นทุนธุรกิจที่ทรงตัวสูง การขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการสร้างผลกำไรและการยืนระยะในการดำเนินธุรกิจที่ทำได้ยากจากระยะเวลาการคืนทุนที่นานขึ้นด้วย สะท้อนให้เห็นจากสัดส่วนร้านอาหารที่สามารถยืนระยะอยู่รอดมากกว่า 3 ปีหลังการเปิดขาย มีเพียงแค่ร้อยละ 35 จากร้านอาหารเปิดใหม่ทั้งหมด (ข้อมูล LINE MAN Wongnai) ทั้งนี้ ไปข้างหน้า ร้านอาหารที่น่าจะเจอความท้าทาย ได้แก่ กลุ่ม Casual Dining เนื่องจากจำนวนผู้เล่นมีความหนาแน่นสูงในเซ็กเมนต์นี้ และกลุ่ม Quick Service Restaurant ที่เผชิญกับโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
        ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับต้นทุนการทำธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบที่อาจผันผวนจากเอลนีโญ (ต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 35 ของต้นทุนทั้งหมด) ดังนั้น การจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจึงยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ร้านอาหารน่าจะทำเพิ่มได้ คือ การจัดการต้นทุนที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้ง ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 4-10 จากวัตถุดิบทั้งหมด ซึ่งหากทำได้ นอกจากจะช่วยปรับลดต้นทุนแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพบว่า ธุรกิจการให้บริการด้านอาหารได้ก่อให้เกิดอาหารเหลือทิ้งทั่วโลกประมาณ 244 ล้านตันต่อปี และมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 8-10
        โดยผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถส่วนช่วยลดของเสียผ่านกระบวนการบริหารจัดการวัตถุดิบและการปรุงอาหารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสต็อก เช่น ระบบ POS การจัดโปรโมชั่นลดราคาสำหรับอาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวัน โดยขายผ่านทั้งช่องทางหน้าร้านและแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร การจัดโครงการ CSR ในการเพิ่มประโยชน์จากอาหารเหลือ เช่น การบริจาคอาหารที่เหลือเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ การนำไปใช้ผลิตก๊าซชีวภาพหรือนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการเกษตร การสร้างสรรค์เมนูให้มีความหลากหลายของขนาดอาหารให้ลูกค้าเป็นทางเลือกในการสั่ง เป็นต้น ซึ่งบางอย่างหลายร้านอาหารน่าจะทำอยู่แล้ว แต่อาจจะพิจารณาปรับแนวทางการทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ