Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2566

บริการ

ยอดขายค้าปลีกยังถูกกดดันจากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ …ติดตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3433)

คะแนนเฉลี่ย

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยอดขายค้าปลีกปี 2567 จะขยายตัวมากน้อยเพียงใด ยังต้องรอติดตามรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งผลบวกของมาตรการโดยเฉพาะเงินดิจิทัลต่อร้านค้าปลีก นอกจากจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคแต่ละรายที่แตกต่างกันแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขพื้นที่และประเภทร้านค้าปลีกด้วย

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ยอดขายค้าปลีกคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่โต 6.8% (YoY) ส่งผลให้ทั้งปีคาดว่ายอดขายค้าปลีกน่าจะขยายตัวราว 5.0% (YoY) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของฐานที่สูง และยังคงถูกกดดันจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง และค่าครองชีพที่สูง ท่ามกลางราคาสินค้าบางรายการที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะต้นทุน อย่างไรก็ดี อาจมีแรงหนุนบางส่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นจังหวะที่ธุรกิจค้าปลีก Segment ต่างๆ ก็คงจะมีการออกแคมเปญทำตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น

        ขณะที่ปี 2567 ยังต้องรอติดตามรายละเอียดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะเงินดิจิทัล ซึ่งผลบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจของมาตรการ คงจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและสถานะทางการเงินของผู้บริโภคแต่ละรายที่แตกต่างกัน รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในแต่ละมิติ ทั้งในแง่ของการกำหนดพื้นที่และประเภทของร้านค้าจะมีผลต่อยอดขายของร้านค้าปลีกแตกต่างกัน ดังนั้น เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2567 ยอดขายค้าปลีกน่าจะขยายตัวราว 4.0-5.0% เมื่อเทียบกับปี 2566 (ยังไม่รวมผลของมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ) โดยยังคงมีแรงหนุนมาจากการทยอยฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 และฟุตบอลยูโร 2024 ที่ธุรกิจน่าจะอาศัยจังหวะเวลาดังกล่าวทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อสร้างบรรยากาศและกระตุ้นยอดขายค้าปลีก รวมถึงผลของราคาสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะหมวดอาหารที่น่าจะยังปรับเพิ่มขึ้น

        นอกจากต้องติดตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมถึงผลกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐแล้ว ไปข้างหน้า แม้ยอดขายยังมีแนวโน้มเติบโต แต่ผู้ประกอบการจะยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะกับสินค้าราคาย่อมเยาจากจีนที่เข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง และต้นทุนที่น่าจะสูงขึ้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะ SMEs

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ