Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 เมษายน 2567

คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ Ultimate Solution เพื่อ Net Zero

คะแนนเฉลี่ย

​​​​​​​​​​​​

  • การดำเนินกิจกรรมภาคป่าไม้เป็น Nature-Based Solution ที่จะช่วยแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้โดยตรง
  • คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการภาคป่าไม้จึงได้รับความนิยม เนื่องจากถูกมองว่ามีคุณภาพมากกว่าโครงการที่ดำเนินการแค่เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น
  • อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดของโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ เช่น ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ระยะเวลา ต้นทุนในการตรวจสอบ วัดผล และทวนสอบ รวมถึงต้นทุนการดูแลรักษาจะส่งผลต่อการตัดสินใจดำเนินโครงการและฐานะทางการเงินของผู้พัฒนาโครงการ

 

          คาร์บอนเครดิตเป็นเสมือนผลตอบแทนของการทำความดีแก่ภาคธุรกิจที่ดำเนินการลดหรือป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศอันเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และป่าไม้ นอกจากจะเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างมูลค่าได้มากมายทั้งในเรื่องพื้นฐานในปัจจัยสี่ การป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติแล้ว ป่าไม้จะเป็นอีกหนึ่ง Solution ที่สามารถสร้างมูลค่าที่เกิดจากคาร์บอนเครดิตซึ่งจะตอบโจทย์การเป็นสังคมปลอดคาร์บอนได้  โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปข้อคิดเห็น และประเด็นควรรู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ได้รับความนิยมมากกว่าคาร์บอนเครดิตจากโครงการทั่วไป เพราะ Co-benefit ของการทำโครงการภาคป่าไม้แก่ชุมชนและสังคม และผลจากการดูดกลับ CO2จากบรรยากาศได้โดยตรง

          คาร์บอนเครดิตอาจจำแนกอย่างกว้างได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

          (1) คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการทำโครงการที่มีการลดหรือเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon reduction/avoidance projects) เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงกว่ากรณีปกติ และ

          (2) คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการทำโครงการที่ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมากักเก็บไว้ (Carbon removal projects) โดยได้จากการดำเนินโครงการประเภทป่าไม้ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขผลกระทบโดยใช้วิธีการทางธรรมชาติ (Nature-based solution) หรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อดูด CO2 จากอากาศโดยตรง (Tech-based solution) เช่น Bioenergy with carbon capture and storage (BECCS), Direct Air Carbon Capture (DAC) เป็นต้น ซึ่งคาร์บอนเครดิตประเภท Removal นี้จะได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ในบรรยากาศได้โดยตรง โดยเฉพาะในโครงการประเภทป่าไม้ที่อาจได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมอื่นๆ ซึ่งมีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน (Co-benefit) อีกด้วย เช่น แหล่งอาหาร สร้างอาชีพ แหล่งต้นน้ำ การป้องกันมลพิษและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น

 

โครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ในไทย คาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้เปรียบด้านความเชี่ยวชาญในภาคเกษตร องค์ความรู้ แรงงาน การสนับสนุนภาครัฐ

          ด้วยสัดส่วนการใช้พื้นที่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และป่าไม้ โดยมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 47.8%[1] และมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 31.6%[2] ประกอบกับแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในภาคเกษตรมากที่สุดที่ 29.2%[3] สะท้อนความพร้อมการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่อนุญาตให้เอกชนยื่นคำขอใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ได้โดยมีเงื่อนไขการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้หน่วยงานเจ้าของที่ดินเพียง 10% [4] และมีแนวโน้มการอนุญาตให้ใช้ประโยช์จากที่ดินรัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดจากการขาดแคลนพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาโครงการได้

forest-carbon-credit 

          ปัจจุบันโครงการประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตรของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมีจำนวน 55 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ 451,393 tCO2eq ต่อปี และมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 122,185 tCO2eq โดยส่วนใหญ่เป็นการรับรองคาร์บอนเครดิตในปีงบประมาณ 2566

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงระยะ 2 ปีข้างหน้า (2567-2568) ปริมาณคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ของไทยมีศักยภาพที่จะขอรับรองได้ประมาณ 600,000 – 700,000 tCO2eq[5] หรือประมาณ 5 เท่าจากที่เคยได้รับการรับรองทั้งหมด อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาโครงการว่าจะขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในช่วงเวลาใด

 

การดำเนินการขั้นแรก...คือ เลือกวิธีการให้เหมาะสม

          ปัจจุบันองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ได้กำหนดระเบียบสำหรับการดำเนินโครงการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร โดยในแต่ละวิธีอาจมีข้อกำหนดในรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ดำเนินโครงการควรต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และหารูปแบบที่เหมาะสมกับตนเองในการดำเนินโครงการ โดยสรุปได้ ดังนี้

 

เปรียบเทียบรายละเอียดสำคัญและข้อสังเกตของโครงการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตแต่ละวิธี

ประเภทโครงการ

รายละเอียด

ข้อสังเกต/ความเหมาะสม/ข้อจำกัด

  • 1. การปลูกป่าอย่างยั่งยืน
    (Sustainable Forestation)
    • มีพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ไม่น้อยกว่า 10 ไร่
    • มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนได้ไม่เกิน 16,000 tCO2eq/ปี
    • เหมาะกับผู้พัฒนาโครงการรายย่อยที่มีพื้นที่โครงการไม่มาก และไม่ต้องการการรวมกลุ่มจำนวนมาก
    • ไม่ประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale)
  • 2. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ
    (Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation and Enhancing Carbon Sequestration in Forest Area Project Level: P-REDD+)
  •  

    • พื้นที่โครงการมีสภาพเป็นพื้นที่ป่า
    • เป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่า
    • ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศดั้งเดิม

     

    • พื้นที่ป่ามักเป็นพื้นที่ของรัฐ จึงต้องได้รับการอนุญาตการใช้ที่ดินจากภาครัฐ และต้องเสียส่วนแบ่งคาร์บอนเครดิตไม่น้อยกว่า 10%
    • ต้องลงทุนเพื่อดูแลรักษาป่า เช่น ทำฝายชะลอน้ำ แนวกันไฟ การปลูกพืชเสริม
    • มีการดูแลเพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า
    • ค่าใช้จ่ายด้านการตรวจวัดสูง เนื่องจากต้องใช้การประเมินโดยการทำแปลงตัวอย่าง หรือใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจวัดปริมาณพันธุ์พืช
    • สร้างประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่าโครงการประเภทอื่นๆ
  • 3. การปลูกป่าอย่างยั่งยืน โครงการขนาดใหญ่
    (Large Scale Sustainable Forestation Project)
    • มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่า 16,000 tCO2eq/ปี
    • ไม่มีการทำไม้ออกทั้งหมดในช่วงเวลา 10 ปี
    • ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่
    • มีการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale)
  • 4. สวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว
    (Economic Fast Growing Tree Plantation)
    • เฉพาะไม้ยืนต้นโตเร็วตามประกาศ อบก.
    • ไม่มีการทำไม้ออกทั้งหมดในช่วงเวลา 10 ปี
    • ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่
    • ได้ปริมาณคาร์บอนเครดิตสูง
    • มีการประหยัดต่อขนาด
    • สามารถเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่มีมูลค่าสูงเมื่อสิ้นสุดโครงการได้
  • 5. การใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีในพื้นที่การเกษตร
    (Good Fertilization Practice in Agricultural Land)
    • โครงการขนาดเล็ก มีปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 5,000 tCO2eq/ปี
    • เป็นพื้นที่การเกษตรที่มีการดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตรไม่น้อยกว่า 5 ปี
    • มีข้อมูลการใช้ปุ๋ยย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือใช้ข้อมูลอ้างอิงจากหน่วยงานราชการ
    • เน้นการเพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี
    • มีการปรับปรุงวิธีการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
    • เป็นโครงการที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำเกษตรกรรรมส่วนใหญ่
    • ต้องการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น รายละเอียดของปุ๋ย/สารปรับปรุงดิน การใช้น้ำมันเครื่องจักร เป็นต้น
    • ต้นทุนส่วนเพิ่มจากข้อจำกัดในการเผาหรือทำลายชีวมวลที่เกิดจากการทำเกษตร
  • 6. การกักเก็บคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น
    (Carbon Sequestration and Reducing Emission for Perennial Crop Plantation)
    • ปลูกไม้ผลยืนต้นที่มีรูปแบบเป็นสวนเชิงเดี่ยว หรือเป็นสวนผสม
    • ปรับปริมาณการใช้ปุ๋ย/สารปรุงดินอย่างถูกต้องและเหมาะสม
    • ไม่เป็นพื้นที่ที่มีการตัดไม้ผลยืนต้นออกก่อนครบอายุรอบการผลิต/รอบตัดฟัน เพื่อทำการปลูกรอบใหม่
    • มีข้อมูลการใช้ปุ๋ยย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือใช้ข้อมูลอ้างอิงจากหน่วยงานราชการ

     

    • เป็นโครงการที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำเกษตรกรรรมส่วนใหญ่
    • ต้องการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น รายละเอียดของปุ๋ย/สารปรับปรุงดิน การใช้น้ำมันเครื่องจักร
    • ต้นทุนส่วนเพิ่มจากข้อจำกัดในการเผาหรือทำลายชีวมวลที่เกิดจากการทำเกษตร
    • ความเสี่ยงจากข้อกำหนดห้ามตัดไม้ผลยืนต้นก่อนครบกำหนด
    ที่มา: อบก., กรมวิชาการเกษตร รวบรวมโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

     

    ประเด็นสำคัญที่ควรรู้

              การพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ มีข้อกำหนดและเงื่อนไขหลายประการ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดของผู้พัฒนาโครงการได้ในหลายกรณี ดังนี้:

    • ต้นทุนค่าดำเนินการตรวจประเมินก่อนดำเนินโครงการ และต้นทุนทวนสอบความใช้ได้ และการวัดผลในทุกครั้งที่ต้องการขอรับรองคาร์บอนเครดิตแก่ผู้ประเมินภายนอก ที่นอกเหนือจากต้นทุนการดำเนินการ และค่าบำรุงรักษา ทำให้ประเด็นด้านการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ดำเนินโครงการต้องพิจารณา
    • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าจากภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า หรือน้ำท่วม อันส่งผลให้ป่าไม้ได้รับความเสียหาย หรือการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อการทำการเกษตร อาจทำให้ไม่ได้รับคาร์บอนเครดิตตามที่ประเมินไว้ตอนเริ่มโครงการ
    • ข้อกำหนดรอบตัดฟันระยะเวลา 10 ปี ซึ่งส่งผลต่อการใช้ประโยชน์จากไม้ในพื้นที่ที่ขอรับรอง ทำให้ผู้พัฒนาโครงการต้องพิจารณาค่าเสียโอกาสจากการนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น
    • ข้อกำหนดด้านขนาดแปลงขั้นต่ำ และเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินทางกฎหมายในการดำเนินโครงการที่อาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้พัฒนาโครงการรายย่อย ซึ่งอาจต้องรวมกลุ่ม หรือรอการสนับสนุนของภาคเอกชนเพื่อดำเนินการ ทั้งนี้ ประเภทโครงการที่ทำได้ง่าย และน่าจะได้รับปริมาณคาร์บอนเครดิตต่อไร่สูงที่สุดคือ การดำเนินโครงการประเภทสวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส มะฮอกกานี สะเดา ซึ่งอาจต้องมีขนาดพื้นที่อย่างน้อย 100 ไร่ จึงจะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิตมากพอและมีต้นทุนคุ้มค่ากับราคาซื้อขายโดยเฉลี่ย ในปัจจุบัน[6]

     

    ประมาณการปริมาณคาร์บอนเครดิตและต้นทุนจำแนกตามประเภทโครงการภาคป่าไม้

    carbon credit cost 

     

     

    ในระหว่างนี้ ผู้ดำเนินโครงการจะต้องทยอยขอรับขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการ โดยส่วนใหญ่มักดำเนินการเป็นรอบ รอบละ 3-5 ปี

              การได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากกิจกรรมของป่าไม้จะเกิดขึ้นเมื่อต้นไม้มีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากจุดเวลาที่เริ่มดำเนินโครงการ ทำให้อาจจะต้องเว้นช่วงระยะเวลาสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ประมาณ 3 – 5 ปี ก่อนขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนจะต้องได้รับการประเมิน ตรวจวัด จากหน่วยงานภายนอกที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ก่อน ทำให้ในระหว่างดำเนินการก่อนได้รับคาร์บอนเครดิตมา ผู้ดำเนินโครงการจะมีภาระต้นทุนการประเมินจากหน่วยงานภายนอกที่เป็นส่วนเพิ่มจากต้นทุนการบำรุงรักษา ซึ่งมูลค่าคาร์บอนเครดิตที่ได้รับอาจไม่คุ้มทุนในระยะแรกเนื่องจากยังไม่สามารถตัดฟันไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อฐานะทางการเงินของเจ้าของโครงการได้

    carbon-credit-register 

              อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากผลประโยชน์ทางการเงินที่ได้รับจากการขายคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการแล้ว และผลตอบแทนจากการสร้างผลประโยชน์แก่สังคมแล้ว ผู้พัฒนาโครงการจะได้รับประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ของบริษัท

     

    ทิศทางราคาคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ในระยะข้างหน้า...คงปรับตัวสูงขึ้น แต่ถึงจุดหนึ่งคงเจอข้อจำกัดด้านการปรับขึ้นของราคา

              ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยราคาคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ที่ซื้อขายกันมีมูลค่าสูง โดยมีราคาเฉลี่ยประมาณ 184 บาทต่อตัน และเคยซื้อขายด้วยราคาสูงสุดที่ 2,000 บาทต่อตัน แตกต่างกันไปตามโครงการและการเจรจาต่อรอง

              ในระยะข้างหน้า แม้ราคาคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ ยังน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ แต่อัตราการเพิ่มขึ้นคงจะช้าลง ตามอุปทานคาร์บอนเครดิตที่จะเพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฏต่อจากนั้น คงจะเห็นเป็นทิศทางราคาที่ค้างในระดับสูง เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ป่าไม้ที่มีจำนวนจำกัดในการนำมาพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต รวมถึงระยะเวลาในการพัฒนาโครงการที่จะทำให้มีการรับรองเครดิตภาคป่าไม้เป็นรอบ และอุปสงค์การนำคาร์บอนเครดิตประเภท Removal ที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้ชดเชยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในระดับประเทศที่ได้ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในทางกลับกัน ภาคเอกชนรวมถึงหน่วยงานภาครัฐ หากมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินแล้วมีการตัดไม้ หรือนำไม้ออก ก็ควรนำกลไกทางราคาคาร์บอน (carbon pricing) มาปรับใช้ร่วมด้วยเพื่อไม่ให้พื้นที่ป่า และความสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศลดน้อยลง

              โดยสรุป แม้การปลูกป่า/ต้นไม้เพื่อคาร์บอนเครดิต จะมีกระบวนการ ต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายปลีกย่อยที่ส่งผลต่อการพิจารณาตัดสินใจดำเนินโครงการ แต่คาดว่าความนิยมต่อคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้จะมีมากขึ้นตามลำดับ ไม่เพียงแต่ในตลาดเมืองไทย แต่จะเป็นในระดับโลก ตามความต้องการชดเชยปริมาณการปล่อยคาร์บอนเพื่อการเป็น Net Zero ที่ท้ายที่สุดแล้ว ธุรกิจคงไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงทำให้ Nature-Based Solution ของภาคป่าไม้ จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการลดและปิดช่องว่างของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนนั้น

              สำหรับผู้ที่ต้องการทำโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างค่าเสียโอกาสจากกระแสเงินสดที่อาจได้มาอย่างต่อเนื่องหากนำพื้นที่หรือเงินทุนไปดำเนินโครงการอื่น กับดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งอาจจะได้กระแสเงินสดกลับมาเป็นรอบๆ รวมถึงผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินอื่นๆ จากการทำโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทนี้ ซึ่งหากพิจารณาแล้ว พบว่ามีความคุ้มค่าและตอบโจทย์ธุรกิจได้ ภาคธุรกิจคงต้องเร่งดำเนินการนับตั้งแต่วันนี้เพื่อให้ทันกับระยะเวลาที่ป่าไม้ต้องใช้ในการเจริญเติบโต

     


    [1] พื้นที่เขตเกษตรกรรมประเทศไทย, กรมพัฒนาที่ดิน

    [2] สถานการณ์ป่าไม้ไทย 2565, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

    [3] ตัวชี้วัดแรงงาน พ.ศ. 2564, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

    [4] ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

    [5] จากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย และโครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ โดยยังไม่ได้ขอรับรองคาร์บอนเครดิต

    [6] ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้จากโครงการ T-VER ในปีงบประมาณ 2566 อยู่ในช่วงระหว่าง 55 – 300 บาทต่อตัน

    ​​​​​​​​​​

    ดูรายละเอียดฉบับเต็ม