Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 พฤศจิกายน 2562

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

มาตรการที่อยู่อาศัยช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกแก่ตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3056)

คะแนนเฉลี่ย

​           เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2562 ซึ่งรวมถึงมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์" เพื่อเป็นการลดภาระและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งนับเป็นการออกมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการลดภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี 2562 นี้ 

          ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โครงการ “บ้านดีมีดาวน์" ซึ่งภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือนหรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี จำนวน 100,000 ราย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกท่ามกลางตลาดที่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย โดยโครงการฯ นี้ จะช่วยหนุนด้านการตลาดของผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยในการที่จะทำแคมเปญกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไปยังห่วงโซ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเงินไปผ่อนชำระที่อยู่อาศัยหรือใช้จ่ายเพื่อการอื่นได้

          ดังนั้น โครงการฯ ดังกล่าวที่ออกมาจึงนับว่าเป็นผลด้านบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการฯ นี้ ผู้ที่จะได้รับเงินสนับสนุนจะต้องผ่านการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ ภาระหนี้ครัวเรือน ภาวะรายได้และการมีงานทำ รวมถึงคุณสมบัติต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่โครงการฯ กำหนด  ขณะที่ยังเหลือเวลาไม่นานก็จะจบปี 2562

          ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กิจกรรมการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยและการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งปี 2562 จะยังติดลบจากปี 2561 จากกิจกรรมที่ชะลอลงในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีนี้ และเนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่มากก็จะจบปี 2562 โดยในส่วนของกิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณที่กลับมาบวกได้เล็กน้อยในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2562 นี้ อย่างไรก็ดี  คาดว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งปี 2562 น่าจะหดตัวประมาณ 10.0% หรือมีจำนวนประมาณ 177,000 หน่วย ซึ่งเป็นภาพที่ดีขึ้น โดยจำนวนการโอนฯ ทั้งปี 2562 นี้ น่าจะเข้าสู่กรอบประมาณการบนที่เคยคาดการณ์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

          ขณะที่ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ผู้ประกอบการคงจะให้น้ำหนักในการทำตลาดระบายที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จรอขายออกไประดับหนึ่ง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2562 นี้ จะมีจำนวนประมาณ 105,000 หน่วย หดตัว 16% จากปี 2561

      ​  อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในระยะข้างหน้า ก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อที่อยู่อาศัยในระยะถัดไป เนื่องจากมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะทยอยสิ้นสุดในปี 2563 ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้ซื้อต้องเร่งตัดสินใจ


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม