Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ตุลาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

คาดการณ์เงินเฟ้อเดือนต.ค. เริ่มเป็นบวก แต่แรงกดดันเงินเฟ้อยังไม่สูง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2654)

คะแนนเฉลี่ย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน 2552 ยังคงติดลบในระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า คือลดลงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถ้าหากเทียบกับเดือนสิงหาคมแล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เนื่องจากราคาสินค้าอาหารหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน แม้ว่าลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงอยู่ภายนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินเฟ้อที่ยังคงมีระดับต่ำนี้ สอดคล้องกับสภาวะตลาดผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอ ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนตุลาคมนี้ และอาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี โดยที่สำคัญเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากระดับในปัจจุบัน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจไปแตะระดับร้อยละ 4 ในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจไทยที่น่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป น่าจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากอุปสงค์ยังมีไม่สูงนัก เนื่องจากสถานการณ์ตลาดยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานยังมีระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังอยู่ภายนอกกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปจนถึงปลายปี ขณะที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเหนือร้อยละ 0.5 เล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ซึ่งทิศทางดังกล่าวน่าจะยังคงเอื้ออำนวยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปได้อย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2553

ซึ่งนอกจากเป้าหมายในการดูแลเสถียรภาพราคาแล้ว ธนาคารแห่งประเทศยังมีโจทย์ที่สำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง ขณะที่ต้องดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้พร้อมกันไปด้วย โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 จะติดลบร้อยละ 0.4-0.9 ต่ำลงจากปี 2551 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังมีค่าเฉลี่ยทั้งปีเป็นบวกที่ร้อยละ 0.0-0.5 ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามนับจากนี้ ที่สำคัญคือ สภาพอากาศที่มีฝนตกมากและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาจสร้างความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกก็อาจจะเผชิญปัจจัยในลักษณะเดียวกัน โดยเพื่อนบ้านหลายประเทศในภูมิภาคนี้ก็ประสบปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งสถานการณ์อาจรุนแรงมากกว่าไทยด้วย นอกจากนี้ยังต้องติดตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางการนำเข้าของประเทศจีน ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะมีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย