Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มิถุนายน 2555

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีในช่วงที่ผ่านมา...แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากยุโรป (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3309)

คะแนนเฉลี่ย

เครื่องชี้เศรษฐกิจแทบทุกหมวดในเดือนพฤษภาคม 2555 สะท้อนให้เห็นภาพการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น นำโดย การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการเร่งการผลิตของอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และแรงเสริมจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอื่นๆ ที่มีการฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 6.6 (YoY) และร้อยละ 14.0 (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของยอดจำหน่ายยานยนต์ (ที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาณการเร่งกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 50 ปี) การนำเข้าสินค้าทุน-เครื่องจักร และยอดจำหน่ายปูนซิเมนต์ ส่วนในด้านการส่งออก ก็สามารถกลับมาบันทึกอัตราการขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.7 (YoY) ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าภาวะวิกฤตยุโรปที่เพิ่มระดับความเสี่ยงจะกดดันให้การส่งออกสินค้าบางชนิดที่มีตลาดหลักอยู่ในยุโรปเริ่มมีสัญญาณที่ซบเซาลง ขณะที่ การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ยังคงเผชิญภาวะหดตัวจากทั้งปริมาณและราคาที่ต่ำกว่าปีก่อน

จากข้อมูลเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2555 สามารถกลับสู่แนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างมั่นคงขึ้น โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากแรงหนุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการผลิต และการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีภาพด้านลบรุนแรงจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน จะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนทั้งนี้ ทิศทางการฟื้นตัวที่กระจายไปทั่วทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2555 น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบร้อยละ 3.1-4.1 (ค่ากลางร้อยละ 3.6) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่เติบโตเพียงร้อยละ 0.3 (YoY) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555

ทั้งนี้ แม้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2555 จะดูเหมือนว่าได้ข้อสรุปที่ดีกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ และน่าจะช่วยคลายความกังวลต่อวิกฤตหนี้ยูโรโซนลดไปได้บางส่วนในช่วงแรก อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญสำหรับระยะสั้นและระยะยาวของยุโรปในช่วงหลังจากนี้ ก็คือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกดดันจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่จะส่งผ่านมาที่ภาคการส่งออกของไทย ก็ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่รออยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 น่าจะสามารถขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรกจากมูลค่าฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน แต่แรงผลักดันจากภาครัฐบาลในการดำเนินนโยบายสนับสนุนการเติบโตของภาคการใช้จ่ายในประเทศ ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยประคับประคองเส้นทางการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องไม่สะดุดลง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย