Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ตุลาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้อไตรมาสสุดท้ายของปี 2555...เข้าสู่ช่วงขาขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3358)

คะแนนเฉลี่ย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนก.ย. 2555 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 3.38 (YoY) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไล่ขึ้นไปยืนที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 1.89 (YoY) เช่นกัน โดยข้อสังเกตสำคัญจากตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนก.ย. 2555 ก็คือ แม้การเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดของเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในเดือนก.ย. 2554 แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาของสินค้าบางประเภท เช่น ค่าไฟฟ้า Ft และการปรับภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งเกิดขึ้นๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีผลทำให้แรงหนุนเงินเฟ้อในเดือนก.ย. 2555 เพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แรงส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา (เพราะพ้นช่วงเวลาการตรึงราคาสินค้าตามที่ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์) และสภาพอากาศที่แปรปรวน ยังน่าที่จะทำให้ทิศทางของระดับราคาสินค้าผู้บริโภคคงภาพการทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามความชัดเจนในระยะข้างหน้า คือ ช่วงเวลาของการทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงานหลายประเภท โดยเฉพาะรับภาระชดเชยราคาน้ำมันดีเซลผ่านการตรึงอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 0.005 บาทต่อลิตร และการทยอยปรับราคาก๊าซ LPG ในภาคขนส่ง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับโครงสร้างของราคาพลังงานดังกล่าว ย่อมมีผลเพิ่มภาระต้นทุนของผู้ผลิตและค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งหากเกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2555 แล้ว คาดว่า ผลกระทบสุทธิต่อทิศทางเงินเฟ้อจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 เท่านั้น แต่จะส่งผลคาบเกี่ยวไปเพิ่มแรงหนุนเงินเฟ้อต่อเนื่องในปี 2556 ด้วยเช่นกัน

สำหรับประมาณการเงินเฟ้อของนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 3.2-3.5) ในปี 2555 และขยับสูงขึ้นไปที่ร้อยละ 3.8 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 3.5-4.2) ในปี 2556

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย