Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 มีนาคม 2558

เศรษฐกิจต่างประเทศ

โครงการ QE ยุโรป ... คงสร้างอานิสงส์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนผ่านกลไกของการอ่อนค่าของเงินยูโร แต่ผลต่อเงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินไทยคงมีจำกัด (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2600)

คะแนนเฉลี่ย

ในการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 5 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรปประกาศโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินมาตรการ Public Sector Purchase Programme (PSPP) หรือที่รู้จักกันในนาม QE ในแบบฉบับของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อันมีกำหนดการจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 มีนาคม 2558 นี้ หลังจากที่ได้ส่งสัญญาณถึงแนวทางการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวในการประชุมเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศุนย์วิจัยกสิการไทยได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำ QE ของ ECB ดังนี้

การทำ QE ของธนาคารกลางยุโรป อาจส่งผลดีต่อภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวในยูโรโซน ผ่านการอ่อนค่าของค่าเงินยูโรเป็นหลัก การอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินยูโร คงส่งผลบวกต่อภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนประมาณ 44% เศรษฐกิจยูโรโซน นอกจากนี้ การอ่อนค่าของค่าเงินยูโรยังเป็นอีกปัจจัยที่คงจะช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยว และคงส่งผ่านกิจกรรมไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ให้ทยอยปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนระลอกใหม่ในยูโรโซนให้ทยอยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

นอกจากนี้ ผลของมาตรการ QE ในรอบนี้ คงจะหนุนนำการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนในระยะข้างหน้า ผ่าน 2 กลไกหลักในการส่งผ่านมาตรการทางการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจ โดย กลไกแรก การปรับเพิ่มขึ้นของราคาพันธบัตรที่ธนาคารพาณิชย์ถืออยู่ อันช่วยหนุนงบดุลและสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น และกลไกที่สอง ผลข้างเคียงจากการซื้อพันธบัตรของ ECB น่าจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางของประเทศที่มีอันดับเครดิตสูงที่สุด อาทิ เยอรมนี ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ยังคงติดลบ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อเพื่อชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่หายไป

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย ผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยยังน่าจะอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากการซื้อสินทรัพย์ของทาง ECB นั้นจะเป็นการซื้อสินทรัพย์สกุลเงินยูโรเป็นหลักโดยการส่งผ่านผลของ QE ไปยังตลาดการเงินไทยอาจได้รับผลทางอ้อม จากการปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนสินทรัพย์ในยูโรโซน รวมทั้ง อาจได้รับผลจากการการกู้ยืมเงินในสกุลที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เพื่อมาซื้อสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือ Carry Trade โดยเงินสกุลยูโรอาจถูกใช้เป็นสกุลเงินระดมทุน (Funding Currency) ในขณะที่สกุลเงินในประเทศเกิดใหม่ รวมทั้ง เงินบาทคงเป็นสกุลเงินเป้าหมายในการลงทุน อันอาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ