Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤศจิกายน 2558

เศรษฐกิจต่างประเทศ

บทสรุป APEC PHILIPPINES 2015: วางกรอบการศึกษา FTAAP (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2675)

คะแนนเฉลี่ย

การประชุมเอเปค ครั้งที่ 23 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2558 ที่ปิดฉากไปแล้ว ประเทศสมาชิกยังคงเดินหน้าหารือในประเด็นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันต่อสู้กับการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นัยที่ซ่อนอยู่ในการประชุมเอเปค 2558 ครั้งนี้คือ การผลักดันความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ซึ่งจะเป็นกรอบการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่ประชุมผู้นำเอเปคได้วางแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ของกรอบความตกลง FTAAP ที่ครอบคลุมทุกชาติสมาชิกเอเปค ให้มีผลสรุปออกมาในการประชุมครั้งต่อไปในปี 2559 ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู แต่หนทางของกรอบการค้าดังกล่าวยังต้องอาศัยแรงผลักดันอย่างเข้มข้นของประเทศสมาชิก อีกทั้งต้องเผชิญความท้าทายจากจุดยืนที่แตกต่างของแต่ละประเทศ ยิ่งทำให้การบรรลุกรอบดังกล่าวยังคงต้องอาศัยเวลาอีกนานกว่าจะเกิดขึ้น

ดังนั้น โจทย์สำคัญต่อไทยที่จะเกิดขึ้นในระยะใกล้คือการเข้าสู่ AEC อย่างเป็นทางการในสิ้นปี 2558 นี้ ซึ่งภาคธุรกิจต้องกลับมาขบคิดเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขยายโอกาสทางการตลาดใน AEC และมองต่อยอดไปยังคู่ภาคีทั้ง 6 ประเทศ (ASEAN+6) คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ได้มีการเปิดเสรีทางการค้าไปแล้ว ในขณะที่กรอบความตกลงอื่นๆ ยังทอดระยะเวลาออกไป ไม่ว่า TPP ที่ไทยอยู่ระหว่างศึกษาผลดี-ผลเสียก่อนตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ อีกทั้งไทยจะได้เข้าร่วมหรือไม่ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับการเห็นชอบของประเทศสมาชิก TPP และการตัดสินใจของทุกฝ่ายในประเทศ ส่วนในด้านของ RCEP คาดว่าจะยังใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี โดยประเด็นหลักอยู่ที่การหารือข้อสรุประหว่าง 6 ชาติสมาชิกที่นอกเหนือจากอาเซียน แต่สำหรับไทยแล้วคงมีผลแตกต่างไปจากปัจจุบันไม่มากนัก เนื่องจากไทยเปิดตลาดเสรีกับประเทศเหล่านี้ไปแล้ว เพียงแต่จะช่วยเสริมโอกาสการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่าง 16 ประเทศสมาชิกได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี สำหรับกรอบ FTAAP นั้น เมื่อมองในระยะที่ไกลออกไปย่อมเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจไทยในการขยายตลาดไปยังประเทศที่ไทยไม่มีความตกลงทางการค้าเสรีด้วยอย่างสหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก ฮ่องกง ไต้หวัน ปาปัวนิวกินี และรัสเซีย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ

FTA