Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 มีนาคม 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกปี 2548 ... ยังขยายตัวร้อนแรง

คะแนนเฉลี่ย

การประกาศตัวเลขการลงทุน Fixed-Asset Investment ของจีนในเช้าวันที่ 16 มีนาคม 2548 นั้น พบว่า การลงทุนของจีนได้เร่งตัวขึ้นในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา โดยตัวเลขการลงทุนดังกล่าวได้ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 24.5% จากที่ขยายตัว 21.3% ในเดือนธันวาคม 2547 รวมทั้งยังเป็นอัตราการขยายที่สูงกว่าเป้าหมายการขยายตัวที่ทางการจีนกำหนด โดยทางการจีนได้หวังว่าจะสามารถชะลอความร้อนแรงของการลงทุนให้มีการขยายตัวลดลงเหลือเพียง 16% ในปีนี้ หลังจากที่ขยายตัว 26% ในปี 2547 ที่ผ่านมา

นอกจากการลงทุนที่ขยายตัวในอัตราเร่งแล้ว เครื่องชี้เศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ขยายตัวในอัตราเร่งในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้เช่นเดียวกัน ได้แก่: การผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) อัตราเงินเฟ้อ (CPI Inflation) และการส่งออก (Exports) ในขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่: ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ปริมาณเงิน M2 และยอดสินเชื่อ รวมทั้งการนำเข้า โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของจีน น่าจะชี้ถึงแนวโน้มสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้ :-
  • จากการขยายตัวในอัตราเร่งของการลงทุนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน ทำให้คาดว่า ทางการจีนน่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อที่จะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและความเสี่ยงของการเกิดภาวะฟองสบู่ หลังจากที่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมขึ้นในอัตราเฉลี่ยประมาณ 0.27% ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา
  • คาดว่า ทั้งการลงทุนและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีนั้น น่าจะส่งผลให้ GDP ในไตรมาสแรก 2548 ของจีน อาจจะขยายตัวสูงกว่า 8.5% ในขณะที่การขยายตัวตลอดทั้งปี 2548 ก็น่าจะสูงกว่า 8.0% โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจของจีน อาจมีการขยายตัวประมาณ 8.5% ในปี 2548 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัว 9.5% ในปีก่อนหน้า
  • อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของการนำเข้าและอัตราการขยายตัวของ GDP ของจีนที่ลดลงจากปีก่อนหน้า อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
  • การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน อาจจะส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก
  • เงินหยวนจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ปรับค่าขึ้น ทั้งจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนและฐานะการเกินดุลการค้า ซึ่งคงเป็นการยากที่ทางการจีนจะสามารถปฏิเสธได้ ตราบใดที่ตัวเลขการลงทุนและการส่งออกยังคงออกมาในลักษณะนี้

โดยสรุปแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงสองเดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2548) ยังคงบ่งชี้ถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการลงทุน การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนภาคการส่งออก ในขณะที่ก็เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวให้เห็นในด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค รวมทั้งการขยายตัวของปริมาณเงินและสินเชื่อในระบบ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจจีนยังน่าที่จะขยายตัวได้ 8.5% ในปี 2548 จากที่ขยายตัว 9.5% ในปีก่อนหน้า ในขณะที่ในไตรมาสแรก 2548 GDP ของจีนน่าจะขยายตัวสูงกว่า 8.5% ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ทางการจีนจะยังคงนโยบายการเงินที่เข้มงวดไว้ รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง เพื่อที่จะป้องกันภาวะฟองสบู่ในภาคการลงทุนของจีน ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของการส่งออกและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการเกินดุลการค้าของจีน ก็น่าจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้จีนต้องพิจารณาปรับค่าเงินหยวน ซึ่งคงเป็นการยากที่ทางการจีนจะสามารถปฏิเสธได้ ตราบใดที่ตัวเลขการลงทุนและการส่งออกยังคงออกมาในลักษณะนี้ต่อเนื่องไปอีก อย่างไรก็ตาม คงจะต้องยอมรับว่า ทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของการนำเข้าและ GDP ของจีน และความเป็นไปได้ของการปรับค่าเงินหยวนของจีนนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งของไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เศรษฐกิจต่างประเทศ