Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 พฤศจิกายน 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ACMECS : ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย & อินโดจีน

คะแนนเฉลี่ย

ผู้นำ 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม มีกำหนดหารือกลุ่มความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี เจ้าพระยา แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2548 ณ ประเทศไทย ซึ่งเป็นการหารือระดับผู้นำครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกลุ่ม ACMECS ในเดือนพฤศจิกายน 2546 นับว่ากลุ่ม ACMECS เป็นกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคที่มีประชากรรวมกัน 5 ประเทศ ราว 215 ล้านคน (ราว 43% ของประชากรทั้งหมดของอาเซียน) และพื้นที่รวมกันราว 1.906 ล้านตารางกิโลเมตร

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การดำเนินงานความร่วมมือของกลุ่ม ACMECS จะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศสมาชิกในกลุ่ม รวมทั้งไทย ดังนี้

1. ส่งเสริมการค้าภายในกลุ่ม ACMECS & ยกระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม - การดำเนินโครงการความร่วมมือของกลุ่ม ACMECS จะก่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจจากไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้

- สนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน - การที่ไทย ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรหลายรายการจากกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง และไม้ยูคาลิปตัส จะทำให้สินค้าเกษตรจากประเทศเหล่านี้แข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นในตลาดไทยได้มากขึ้น เป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในการส่งออกสินค้าเกษตรมาไทย สร้างรายได้เข้าประเทศและประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมให้การค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยเข้าสู่ระบบการค้าสากลมากขึ้น นอกจากนี้ การลดภาษีสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าอุตสาหกรรมของไทย เป็นผลดีต่อไทย เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยต่ำลง

- โครงการ Contract Farming ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรของกลุ่ม ACMECS ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรในการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ การสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปร่วมส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้านและรับซื้อสินค้าเกษตรเหล่านั้น จากประเทศเพื่อนบ้านในราคายุติธรรมในระบบ Contract Farming และส่งออกสินค้ามาไทยโดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากไทย ทำให้เกิดการผลิตสินค้าโดยมีต้นทุนต่ำ เพราะค่าแรงและต้นทุนการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านต่ำกว่าไทย ไทยจะได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูก มีหลักประกันในด้านปริมาณสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่แน่นอน และลดปัญหาจากการเคลื่อนย้าย แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเข้าไทย

2. ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวภายในภูมิภาค - โครงการใช้วีซ่า ร่วมกันของกลุ่ม ACMECS (ACMECS Single Visa) เป็นการอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยว ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูมิภาค และโครงการ "Fives Countries One Destination" เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากการโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์/จุดเด่นของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน รวมทั้งส่งเสริมการเดินทางไป-มาระหว่างกันของนักท่องเที่ยวภายในภูมิภาค ACMECS จากการออกใบผ่านแดนสำหรับนักท่องเที่ยว (Tourist Border Pass) คาดว่าความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว และโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่ม ACMECS จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้การเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคมากขึ้นด้วย ในปี 2547 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศสมาชิกกลุ่ม ACMECS รวมกัน 17,272,204 คน เพิ่มขึ้น 11.56% จาก 14,445,234 คนในปี 2546 ส่วนนักท่องเที่ยวของกลุ่ม ACMECS ที่เดินทางไป-มาภายในกลุ่มกันเองในปี 2547 มีจำนวน 1,352,636 คน

3. พัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าสะดวกขึ้น - หากพิจารณาจากที่ตั้งของประเทศไทย ถือว่าไทยเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน โดยมีชายแดนติดกับพม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในภูมิภาค การร่วมมือในกลุ่ม ACMECS ที่มีโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน และเส้นทางคมนาคมในประเทศเพื่อนบ้าน จะอำนวยความสะดวกให้การขนส่งสินค้าภายในกลุ่ม รวมทั้งการขนส่งไปยังประเทศนอกภูมิภาคใกล้เคียงได้สะดวกขึ้น โดยมีต้นทุนการขนส่งต่ำลง นอกจากนี้ ลาวซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล อีกทั้งตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก เพราะมีประชากรราว 5.8 ล้านคน การสร้างโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงนี้จะอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง สินค้าให้ลาว ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งด้วย คาดว่า หากโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกกลุ่ม ACMECS จะส่งเสริมให้การขนส่งสินค้าของกลุ่ม ACMECS สะดวกมากขึ้น ได้แก่ การอนุญาตให้รถบรรทุกสินค้าจากแหล่งผลิตสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดนได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายรถ และการสร้างระบบขนส่งทางรถไฟและถนนเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายในพม่ากับท่าเรือแหลมฉบังของไทย เพื่อลดค่าขนส่งจากการที่ไม่ต้องเดินเรืออ้อมแหลมมะลายู

4. ป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนก - ความร่วมมือด้านสาธารณสุขโดยการ ป้องกันและแก้ไขการระบาดของโรคภายในกลุ่ม ACMECS โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนกที่อยู่ระหว่างการ ควบคุมการแพร่เชื้อในขณะนี้ ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สมาชิกลุ่ม ACMECS ต้องให้ความสำคัญ เพราะ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน ยังกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยวของภูมิภาคด้วย การหารือเรื่องวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกและการควบคุมโรคจะส่งผลดีต่อการควบคุมโรคภายในกลุ่มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ