Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 ธันวาคม 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ประชุมผู้นำอาเซียน 2548 : ก้าวสู่เป้าหมายการเป็นตลาดเดียว

คะแนนเฉลี่ย

มาเลเซียกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2548 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ มีกำหนดการประชุมหารือกับผู้นำประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะจัดต่อเนื่องกับการประชุมผู้นำอาเซียนในช่วงดังกล่าวเช่นกัน การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะถือเป็นการประชุมครั้งแรกระหว่างผู้นำอาเซียนกับรัสเซีย รวมทั้งการประชุม East Asia Summit (EAS) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มนี้ประกอบด้วยผู้นำประเทศอาเซียน ผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กล่าวได้ว่า การประชุมของผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ และการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย รัสเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งสำคัญของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่นับวันจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นสำคัญของการประชุมของผู้นำอาเซียนครั้งนี้ คือ การติดตามการดำเนินการตามเป้าหมายสุดท้ายของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งอาเซียนจะรวมตัวเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)" ในปี 2563 (ค.ศ.2020) โดยจะเป็นตลาดที่มีฐานการผลิตร่วมกัน (Single market and production base) และจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานที่มีทักษะอย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยขณะนี้อาเซียนได้ดำเนินการเร่งรัดการเปิดเสรีของสาขานำร่อง (Priority Sectors) 11 สาขา ได้แก่ 1) ยานยนต์ 2) ผลิตภัณฑ์ไม้ 3) ผลิตภัณฑ์ยาง 4) สิ่งทอ 5) อิเล็กทรอนิกส์ 6) ผลิตภัณฑ์เกษตร 7) ประมง 8) เทคโนโลยีสารสนเทศ 9) สุขภาพ 10) การท่องเที่ยว และ 11) การบิน

หากพิจารณาจากมาตรการการรวมกลุ่มอาเซียน ยังคงคืบหน้าเป็นลำดับตามกำหนดเวลา ได้แก่ พันธกรณีการลดภาษีภายใต้ AFTA ได้บรรลุเป้าหมาย โดยสินค้าเกือบ 100% ของรายการสินค้าทั้งหมด มีอัตราภาษีนำเข้าต่ำกว่า 5% ในปี 2546 และจะเป็น 0% ในปี 2553 สำหรับประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ส่วนประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ (เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา) กำหนดให้ลดภาษีขาเข้าเป็น 0% ในปี 2558 รวมทั้งมุ่งขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ระหว่างกันด้วย

ส่วนกำหนดเวลาถัดไป คือ การเปิดให้มีการลงทุนเสรีในอาเซียนและให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติเดียว (National Treatment) กับนักลงทุนอาเซียน ภายในปี 2553 และการเร่งรัดการเปิดเสรีภาคบริการภายในปี 2563 ซึ่งขณะนี้นำร่องโดยสาขาท่องเที่ยวที่ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว และด้านการบินที่อาเซียนตั้งเป้าหมายเปิดเสรีด้านการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารภายระหว่างกันภายในปี 2553 จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่อาเซียนต้องบรรลุให้ได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาชาวโลก

นอกจากนี้ อาเซียนพยายามปรับปรุงกฎระเบียบและเร่งรัดการดำเนินการของกลุ่ม โดยในปี 2547 ได้ปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนใหม่ (ASEAN Dispute Settlement Mechanism) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2563 และพยายามทบทวนกลไกการดำเนินงานของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งเสริมความเข้มแข็งของสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) โดยเฉพาะด้านการวิเคราะห์ทางนโยบาย และให้ข้อเสนอแนะต่อประเทศสมาชิกอาเซียนด้านการส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียน และพยามยามพัฒนาความตกลงต่างๆ ของอาเซียน ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้

การดำเนินการของอาเซียนเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็น AEC แม้จะยังไม่เห็นผลสำเร็จที่ชัดเจนในระยะอันใกล้นี้ ส่วนหนึ่งเพราะระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน 4 ประเทศ แต่การตั้งเป้าหมายเพื่อพยายามมุ่งไปสู่แนวทางดังกล่าว ถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการกระตุ้นความเป็นปึกแผ่นและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน ซึ่งจะเป็นพลังต่อรองทางการค้าที่สำคัญในเวทีโลก รวมทั้งดึงดูดให้ประเทศนอกอาเซียนเข้ามารวมตัวทางเศรษฐกิจกับอาเซียนมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ