Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 พฤศจิกายน 2565

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ควันหลง APEC ... ฝรั่งเศสรุกผลักดันความสัมพันธ์กับไทยและอาเซียน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3366)

คะแนนเฉลี่ย

​    สืบเนื่องจากงานประชุม APEC ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น รัฐบาลไทยได้เชิญผู้นำประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมในฐานะแขกของรัฐบาล นับเป็นการเยือนประเทศไทยของผู้นำฝรั่งเศสในรอบ 16 ปี โดยระหว่างการเยือนประเทศไทยของนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนั้น ได้มีการเดินหน้าความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสรอบด้าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและผลักดัน FTA ระหว่างไทย-อียู จึงนับได้ว่าการเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสครั้งนี้อาจจะเป็นก้าวสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับภูมิภาคอาเซียนต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อการสานความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสในประเด็น ดังนี้

       1.    ด้านการลงทุน: การลงทุนจาก EU มายังอาเซียนมีความสำคัญอยู่อันดับที่ 4 ซึ่งมีความน่าสนใจเช่นเดียวกับเม็ดเงินลงทุนจากฝั่งเอเชียและสหรัฐฯ ประกอบกับความสัมพันธ์อันดีในเวลานี้ทุกภาคส่วนควรเร่งชักจูงการลงทุนจากฝรั่งเศสและยุโรปให้มาลงทุนในไทยอันจะเป็นกุญแจสำคัญทำให้การผลิตไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของยุโรปได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน โดยยอดการลงทุนทางตรง (FDI inflows) จาก EU เข้าสู่อาเซียนเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2561 มีมูลค่า 17,595 ล้านดอลลาร์ฯ (จากเม็ดเงิน FDI inflows ที่เข้าอาเซียนทั้งหมด 154,410 ล้านดอลลาร์ฯ) ขณะที่เม็ดเงินลงทุนของฝรั่งเศสที่เข้ามาไทยอยู่ในกลุ่มการผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่สำคัญ ซึ่งเม็ดเงินลงทุนใหม่ในระยะต่อไปจะยิ่งมีส่วนช่วยเชื่อมโยงการผลิตของไทยกับยุโรปได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการลงทุนจากฝรั่งเศสในปัจจุบันมีประมาณ 280 บริษัท ล้วนอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี อาทิ การผลิตยางล้อรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 ยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของ BOI แก่นักลงทุนฝรั่งเศสมี 11 โครงการ มูลค่า 1,490 ล้านบาท (จากยอดรวม 223,746 ล้านบาท)

       2.    บทบาทด้านการค้า: การกระชับความสัมพันธ์กับไทยช่วยขับเคลื่อนการค้าของฝรั่งเศสในภูมิภาคได้ยิ่งขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันเยอรมนีจะเป็นประเทศในยุโรปที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียนแนบแน่นที่สุดมีสัดส่วนการค้า 2% ของมูลค่าการค้ารวมอาเซียน ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ 1.4% ขณะที่ฝรั่งเศสมีสัดส่วนการค้าเพียง 1% แต่ยังมีโอกาสทำตลาดได้เนื่องจากสินค้าฝรั่งเศสมีลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถตอบโจทย์กำลังซื้อของอาเซียนกำลังเติบโต อาทิ เครื่องสำอาง น้ำหอม กระเป๋า เครื่องบินอุปกรณ์การบินและยา รวมทั้งสินค้าอาเซียนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็สนับสนุนการผลิตของฝรั่งเศสได้เช่นกัน สำหรับไทยนั้น ในบรรดาประเทศ EU ฝรั่งเศสก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 3 รองจากเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ อีกทั้งไทยขาดดุลการค้ากับฝรั่งเศสเนื่องจากไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงและสินค้าฟุ่มเฟือย ในขณะที่ไทยส่งออกไปค่อนข้างน้อยเป็นสินค้าศักยภาพดั้งเดิมของไทย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เลนส์ ยางธรรมชาติ ชิ้นส่วนเครื่องบิน

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น การสานสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอาจจะเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐิจการค้า-การลงทุนในมิติใหม่ๆ จากจุดแข็งของฝรั่งเศสในด้านยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน เทคโนโลยีด้านการขนส่ง การผลิตพลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่พยายามต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนผลักดันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การผลักดัน FTA อาเซียน-อียู รวมถึงไทย-อียู ยังต้องอาศัยแรงจากอีกหลายชาติสมาชิก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ