Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 สิงหาคม 2566

เศรษฐกิจต่างประเทศ

BRICS เพิ่มบทบาทในเศรษฐกิจโลกและกำลังเป็นที่สนใจของเศรษฐกิจเกิดใหม่ ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3430)

คะแนนเฉลี่ย

        การประชุมกลุ่มประเทศเกิดใหม่หรือ BRICS ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2566 เป็นอีกหนึ่งการประชุมกลุ่มเศรษฐกิจในปี 2566 หลังจากมีการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 7 ประเทศ (G7) การประชุมผู้นำอเมริกาใต้ (South American Summit) ต่างเป็นการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหารือความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน ซึ่งประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ทุกกลุ่มต่างหยิบยกขึ้นมาพูดคุยรวมถึงการประชุม BRICS ด้วย
        โดยการประชุม BRICS เมื่อ 22-24 ส.ค.2566 ที่ผ่านมามีสาระสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. จุดยืนของ BRICS ในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ชี้ชัดว่าความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ด้วยขนาดเศรษฐกิจและจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นยิ่งเสริมบทบาทของกลุ่มในเวทีโลกได้อย่างน่าสนใจ
  2. การเดินหน้าผลักดันใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยแผนงานนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้นตั้งแต่รัสเซียถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร อีกทั้งหลายประเทศเกิดใหม่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank: NDB) หรือ BRICS Bank และข้อตกลงกองทุนสำรองฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement: CRA) ที่มีบทบาทใกล้เคียงกับ World Bank และ IMF ตามลำดับ โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นเอื้อประโยชน์ต่อประเทศเกิดใหม่มากกว่าและเปิดให้สมาชิกกู้ยืมในสกุลเงินท้องถิ่น และหากพิจารณาความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนของกลุ่ม BRICS มีความเชื่อมโยงกันด้านเศรษฐกิจมากขึ้นของสมาชิกในกลุ่ม อย่างไรก็ตามตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังคงความสำคัญในฐานะตลาดส่งออกปลายทางที่สำคัญ
  3. การรับสมาชิกใหม่สะท้อนความน่าสนใจของกลุ่มที่เป็นอีกทางเลือกของเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มาจากภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มขึ้น โดยซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปียและอาร์เจนตินาจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค.2567


        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประชุมกลุ่มเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น G7 การประชุมผู้นำอเมริกาใต้ จนมาถึงการประชุม BRICS ต่างชี้ให้เห็นถึงจุดยืนที่เริ่มแสวงหาทางเลือกอื่นเพื่อลดการพึ่งพาชาติตะวันตก โดยเฉพาะในด้านการลดการใช้สกุลเงินดอลลาร์ฯ ที่ล้วนถูกกล่าวถึงในทุกเวที สะท้อนการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจออกมาจากขั้วเศรษฐกิจดั้งเดิมไปสู่ทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
        ในเบื้องต้นไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งแต่ต้นปี 2566 และอยู่ระหว่างรอการพิจารณา หัวใจของการเข้าเป็นสมาชิกหลักๆ คือการรักษาสมดุลของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วเป็นสำคัญ ข้อดีสำหรับไทย นับเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจในอีกแง่มุมหนึ่งเพื่อเข้าถึงกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญในแต่ละทวีปของโลก ในขณะที่ข้อควรระวัง ทางการไทยคงต้องรักษาท่าทีในการรับข้อตกลงใหม่ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความอ่อนไหวต่อคู่ค้าในฝั่งชาติตะวันตก และนำมาซึ่งการมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ