Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 ธันวาคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

EU นำกระแส ESG เตรียมเก็บภาษีคาร์บอนสินค้านำเข้า ... ผลกระทบต่อไทยจะเกิดใน 2-3 ปีข้างหน้า (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3288)

คะแนนเฉลี่ย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ นำมาสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) กลายเป็นแรงกดดันทางการค้าระลอกใหม่ท้าทายความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย โดยที่ผ่านมา EU นำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมออกมาใช้ก่อนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีคาร์บอนกับธุรกิจในประเทศ การลดการใช้งานพลาสติก ล่าสุดกำลังจะเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในอีก 1 ปีข้างหน้า (ปี 2566) นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการในลักษณะใกล้เคียงกันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมของคู่ค้าไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุป 3 มาตรการที่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องเตรียมรับมือ ดังนี้

  1. สินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนสูงถูกเพ่งเล็งก่อน แต่สินค้าเหล่านี้ไทยไม่ค่อยได้ผลิตและส่งออกจึงไม่ได้รับผลกระทบทางตรงมากนัก โดยสินค้ากลุ่มนี้คงต้องเตรียมรับมือกับแผนงาน CBAM ของ EU ที่จะเริ่มใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้ากับสินค้านำร่อง 5 รายการ ประกอบด้วยซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอะลูมิเนียม แผนงานดังกล่าวจุดประกายให้ทั่วโลกหันมาใช้มาตรการใกล้เคียงกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยคงต้องเตรียมเผชิญในตลาดอื่นๆ และอาจขยายขอบข่ายไปยังสินค้าอื่นที่ส่งผลต่อไทยมากขึ้น
  2. สินค้าบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics: SUPs) ผู้ประกอบการไทยที่ต้องใช้พลาสติกเป็นองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์ควรต้องหันไปใช้วัสดุอื่นทดแทน โดย EU เริ่มใช้มาตรการห้ามใช้ SUPs มาตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2564 ประกอบด้วยพลาสติก 10 ชนิด คือ ก้านสำลีเช็ดหู ช้อน/ส้อม/มีด/จาน/หลอด ลูกโป่งและไม้เสียบลูกโป่ง ภาชนะใส่อาหาร ถ้วยเครื่องดื่ม ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม ก้นบุหรี่ ถุงพลาสติก แพ็คเก็ตและที่ห่อ ทิชชู่เปียกและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย สหรัฐฯ เองก็เตรียมนำมาแผนงานนี้มาใช้เช่นกัน ทั้งยังมีแผนจัดเก็บภาษีจากฝั่งผู้ผลิตเพื่อจำกัดการใช้พลาสติกและการนำเข้าเม็ดพลาสติกที่เป็นปัจจัยการผลิตของ SUPs
  3. ค้าอาหารยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เนื่องจากเกี่ยวพันกับผู้บริโภคและผู้ผลิตในวงกว้าง สำหรับไทยที่เป็นผู้ส่งออกอาหารทั้งวัตถุดิบและอาหารแปรรูปจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกช่องทาง แม้ EU จะยังไม่ได้จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าในหมวดอาหาร แต่หลายประเทศใน EU ก็มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้าเนื้อสัตว์ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนจากการทำฟาร์มในอัตราที่สูงกว่าผัก ผลไม้ อาหารสุขภาพและอาหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จึงมีโอกาสที่มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนจากการนำเข้าสินค้าอาหารจะถูกนำมาใช้ในระยะข้างหน้า

EU และสหรัฐฯ ผลักดันให้โลกก้าวไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ลดคาร์บอนในระยะข้างหน้าเป็นเรื่องที่การส่งออกสินค้าไทยต้องเผชิญไม่ช้าก็เร็ว แม้ว่ามาตรการสิ่งแวดล้อมของนานาชาติจะยังไม่กระทบการส่งออกของไทยในปี 2565 แต่ผลกระทบทางอ้อมจะทยอยเกิดขึ้นจากการคุมเข้มของคู่ค้าในการสรรหาสินค้าตอบโจทย์กระบวนการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะ 1-2 ปี การใช้มาตรการ CBAM กับการลดใช้พลาสติกของ EU และสหรัฐฯ กระทบการส่งออกไทยค่อนข้างน้อยมีเพียงร้อยละ 0.9 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลกเท่านั้น แต่ถ้าหากชาติต่างๆ ใช้มาตรการแบบเดียวกันจะยิ่งทำให้สินค้าไทยแข่งขันสูงขึ้น ในระยะต่อไป มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจะขยายขอบข่ายไปยังสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย ดังนั้นในเวลานี้ธุรกิจไทยจำเป็นต้องเริ่มปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เพื่อให้สินค้าไทยตอบโจทย์ความต้องการตามกระแส ESG

​​ ​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ