Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 มิถุนายน 2565

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ…ส่งออกไทยไปญี่ปุ่นหดตัว 0.6% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3327)

คะแนนเฉลี่ย

​         สถานการณ์ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงเรื่อยๆ จนแตะสถิติต่ำสุดในรอบกว่า 24 ปี แตะที่ระดับ 136.24 เยนต่อดอลลาร์ฯ (22 มิถุนายน 2565) ลดลงราวร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2565 โดยค่าเงินเยนอ่อนค่ามากที่สุดในบรรดาสกุลเงินหลักของโลกอีกทั้งยังมีสัญญาณอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดปี ด้วยปัจจัยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของโลก บวกกับแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศยิ่งกดดันการผลิตและการบริโภคของญี่ปุ่น คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2565 จะยังเติบโตได้ที่ร้อยละ 2.1 ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีคงต้องจับตาทิศทางค่าเงินเยน รวมถึงปัจจัยภายนอกจากเศรษฐกิจโลกอาจกดดันเศรษฐญี่ปุ่นในช่วงโค้งสุดท้ายของปีและส่งผลชัดเจนขึ้นในปี 2566
        การอ่อนค่าของเงินเยนทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นตลอดปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ระดับผลกระทบขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสินค้าที่ผู้นำเข้าญี่ปุ่นต้องพิจารณาจากคู่ค้าแต่ละประเทศ กลุ่มที่ 1 กระทบมาก: สินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูงอยู่แล้วจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นตามค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ผู้บริโภคอาจชะลอการซื้อออกไป กลุ่มที่ 2 กระทบปานกลาง: สินค้าจำเป็นในการบริโภคแม้มีราคาสูงแต่ผู้บริโภคจะรับภาระนี้ไว้ กลุ่มที่ 3 กระทบกระทบน้อย: สินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ผู้ผลิตจำเป็นต้องประคองกำลังการผลิต
         ผลต่อการส่งออกของไทยในมิติของโครงสร้างการค้า เมื่อเทียบกับคู่ค้าของญี่ปุ่นในเอเชีย จะพบว่า ไทยเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลไม่มากนักด้วยข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างการค้าที่ญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาไทย สินค้าบริโภคและสินค้าเพื่อการผลิตที่จำเป็นถึงกว่าร้อยละ 80 อาทิ เนื้อไก่ ปลาแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา เคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคอาจชะลอการซื้อออกไปมีเพียงร้อยละ 20 สำหรับในมิติค่าเงินเยนเทียบสกุลเงินในภูมิภาค สินค้าไทยในกลุ่มบริโภคและสินค้าขั้นกลาง หรือที่เกี่ยวเนื่องกับซัพพลายเชนเผชิญความท้าทายจากคู่แข่งในเอเชียที่มีความได้เปรียบด้านค่าเงินกว่าไทยและมีศักยภาพด้านการผลิตสินค้าเทคโนโลยีอย่างมาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวันและจีน ที่ผลิตสินค้าซ้อนทับกับไทยในกลุ่ม ICs ชิ้นส่วนยายนต์ เม็ดพลาสติก
         ในขณะที่การนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นได้อานิสงส์ต้นทุนต่ำจากค่าเงินเยนอ่อนค่า ผู้ประกอบการไทยสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและสินค้าทุนจากญี่ปุ่นในราคาที่ต่ำลง ไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมากถึงร้อยละ 11.7 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย เป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 2 ซึ่งการนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นที่จะพได้ประโยชน์กระจุกตัวในสินค้าขั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ไดโอด วงจรพิมพ์ ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ขณะที่สินค้าที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคไทย อาทิ รถยนต์นั่ง นาฬิกา เครื่องสำอาง อุปกรณ์สำนักงาน และกล้อง  
        ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ได้รับผลกระทบทางตรงค่อนข้างจำกัด รวมแล้วไทยสูญเสียโอกาสส่งออกคิดเป็นมูลค่า 500-800 ดอลลาร์ฯ ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วงเหลือของปีชะลอตัวลงบวกกับผลของฐานที่สูงอาจฉุดส่งออกไทยไปญี่ปุ่นตลอดปี 2565 หดตัวที่ร้อยละ (-) 0.6 มีมูลค่าส่งออกที่ 24,800 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการที่หดตัวร้อยละ (-) 3.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.6 มีมูลค่า 24,200-25,100 ล้านดอลลาร์ฯ) ขณะที่การนำเข้าของไทยได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการนำเข้าสินค้าปัจจัยการผลิตของญี่ปุ่นที่มีราคาต่ำลงโดยเปรียบเทียบ แต่ด้วยฐานที่สูงอย่างมากในปีก่อนทำให้ทั้งปี 2565 เติบโตเพียงร้อยละ 0.4 มีมูลค่า 35,800 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ (-) 1.6 ถึงขยายตัวร้อยละ 2 มีมูลค่า 35,100-36,400 ล้านดอลลาร์ฯ) โดยสุทธิไทยยังคงขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของนำเข้าและส่งออกยังคงชำระด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม