- ดัชนีหุ้นไทยปิดต่ำกว่า 1,200 จุด แม้จะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์
ดัชนีหุ้นไทยยังคงเคลื่อนไหวผันผวนต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกร่วงลงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากผลกระทบของนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจจีนหลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ออกมาต่ำกว่าคาด ก่อนจะดีดตัวขึ้นช่วงสั้น ๆ ในเวลาต่อมาตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ หลังมีรายงานข่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการจัดตั้งกองทุน Thai ESGX เพื่อประคองตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้มีแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปกระจายในหลายอุตสาหกรรม
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์และแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปีครั้งใหม่ ที่ 1,157.96 จุด หลังตอบรับปัจจัยบวกจากข่าวกองทุน Thai ESGX ไปพอสมควร โดยนักลงทุนกลับมากังวลประเด็นสงครามการค้าอีกครั้ง หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดา-อียูเพิ่มเติมเข้ามาในระหว่างสัปดาห์ ส่งผลให้เกิดแรงเทขายหุ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีที่มีปัจจัยลบเพิ่มเติม (จากรายงานข่าวที่ว่ากสทช. อยู่ระหว่างทบทวนแนวทางการประมูลคลื่นความถี่) อย่างไรก็ดีดัชนีหุ้นไทยฟื้นกลับมาได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมีแรงซื้อคืนหลังร่วงลงแรงก่อนหน้านี้
- ในวันศุกร์ที่ 14 มี.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,173.76 จุด ลดลง 2.35% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,271.08 ล้านบาท ลดลง 9.69% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.39% มาปิดที่ระดับ 246.17 จุด
- สัปดาห์ถัดไป (17-21 มี.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,150 และ 1,140 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,190 และ 1,200 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (18-19 มี.ค.) ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม BOJ และ BOE อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนมี.ค. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น