- ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามแรงขายหุ้นบิ๊กแคปและความกังวลต่อประเด็นนโยบายการค้าและทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรงแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี 3 เดือนครั้งใหม่ที่ 1,236.80 จุดช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงกดดันหลัก ๆ มาจากแรงขายหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยาน (กังวลเรื่องผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของคู่ค้า) และหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง (หลังผลประกอบการไตรมาสล่าสุดออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลให้หลายบล. แนะนำขาย) ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนจนถึงช่วงกลางสัปดาห์ตามรายงานข่าวที่ว่ากระทรวงการคลังเตรียมเปิดกองทุน Thai ESG ใหม่เพื่อรองรับเม็ดเงินจากกองทุน LTF ที่ครบกำหนด
ดัชนีหุ้นไทยพลิกร่วงอีกครั้งในเวลาต่อมาสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังมีรายงานข่าวว่าสหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ ยาและเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบกับบันทึกการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดไม่มีความจำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีแรงขายของนักลงทุนชะลอลงในช่วงปลายสัปดาห์หลังร่วงลงแรงก่อนหน้านี้ อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวได้ดีโดยมีแรงหนุนจากการประกาศจ่ายเงินปันผล รวมถึงหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ขยับขึ้นเช่นกันจากข่าวที่ว่า ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ LTV
- ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,246.21 จุด ลดลง 2.04% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 52,240.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.59% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.82% มาปิดที่ระดับ 270.49 จุด
- สัปดาห์ถัดไป (24-28 ก.พ. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,235 และ 1,225 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,270 และ 1,285 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ของไทย การประชุมกนง. (26 ก.พ.) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนม.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 (ครั้งที่ 2) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของยูโรโซน ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.ของญี่ปุ่น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น