- ท่ามกลางสงครามการค้ารอบใหม่ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในวันที่ 17 ก.พ. 2568 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จัดประชุมรวมผู้บริหารบริษัทเอกชนรายใหญ่ของจีน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มาจากธุรกิจที่อยู่ในกำลังการผลิตใหม่ (New productive force) เช่น เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และ AI เป็นต้น (ตารางที่ 1) โดยการประชุมครั้งนี้ “แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา” ที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินจีนเคยสั่งให้ยุติการทำ IPO ของบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินในเครืออาลีบาบาได้มาเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน
- การประชุมดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณสำคัญจากทางการจีนในหลายประการ ดังนี้
1. ภาคเอกชนจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนมากขึ้น โดยประธานาธิบดีจีนระบุว่าจะผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการลงทุนของภาคเอกชน เช่น ต้นทุนเงินทุนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการปฎิบัติแก่บริษัทเอกชนให้เท่าเทียมกับบริษัทของรัฐบาล (Equal Treatment)
2. กลยุทธ์ที่จีนจะใช้รับมือกับสหรัฐฯ โดยจีนจะลดบทบาทการพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศจะมีความเข้มข้นขึ้น โดยการประชุมดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผู้เข้าร่วมมาจาก CEO ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (รูปที่ 2)
3. การเน้นย้ำจุดยืนของทางการจีนที่จะนำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนทดแทนอุตสาหกรรมเดิมอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยนักวิเคราะห์จาก Bloomberg ระบุว่า “ผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสะท้อนกลุ่มอุตสาหกรรมที่จีนให้ความสนใจที่เปลี่ยนไป”
4. การคุมเข้มและกฎระเบียบต่าง ๆ ของรัฐบาลจีนต่อภาคเอกชนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอาจสิ้นสุดลงแล้ว
- หลังการประชุมตลาดหุ้นจีนตอบรับในเชิงบวก โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกง (HSTECH) ปิดบวกที่ 5639.05 จุด (+2.5%) และดัชนีตลาดหุ้นจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกง (HSCEI) ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8475.4 จุด (+1.8%) (ณ วันที่ 18 ก.พ. 2568 )
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจได้มากขึ้น แต่ยังต้องรอติดตามรายละเอียดและแนวนโยบายที่ชัดเจนที่คาดว่าจะมีระบุเพิ่มเติมในการประชุมสองสภาของจีนเดือนมี.ค.2568
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น