Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มกราคม 2568

Econ Digest

ส่งออกไทยปี 2567 ขยายตัว 5.4% สูงกว่าคาดเล็กน้อย คาดปี 2568 โตชะลอลงจากผลของสงครามการค้ารอบใหม่

คะแนนเฉลี่ย

o    การส่งออกไทยในเดือนธ.ค.2567 ขยายตัว 8.7%YoY สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 7.4%YoY (รูปที่ 1)  โดยมีสรุปดังนี้

•    ส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ตามวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวถึง 61.5%YoY ส่งผลให้การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ โดยรวมขยายตัวถึง 17.5%YoY ในเดือนธ.ค. 2567

•    ส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังจีน อาทิ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ช่วยหนุนการส่งออกไทยไปจีนเดือนธ.ค. 2567 ให้ขยายตัว 15.0%YoY โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ารอบใหม่

•    ในขณะที่ส่งออกโซลาร์ เซลล์หดตัวเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน เนื่องจากมาตรการ AD/CVD ของสหรัฐฯ

o    ทั้งปี 2567 มูลค่าการส่งออกไทยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 300,529.5 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 5.4% ขณะที่มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 306,809.8 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 6.3% ส่งผลให้ไทยเผชิญการขาดดุลการค้า (ตามฐานศุลกากร) เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่ -6,280.4 ล้านดอลลาร์ฯ
o    ในปี 2568 การส่งออกไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่ 2.5% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ยังมีแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีอยู่ แต่การส่งออกไทยยังถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและมีความท้าทาย ดังนี้

1)    สงครามการค้ารอบใหม่กดดันภาพการค้าและอุปสงค์โลก ในเบื้องต้นสหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับทุกประเทศ (universal tariff) เพื่อสอบสวนผลกระทบจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ แต่ส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับเม็กซิโก แคนาดา และจีน (รูปที่ 3) ส่งผลให้การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ อาจได้รับอานิงส์บวกบ้างเพื่อทดแทนตลาดดังกล่าว อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ถุงมือยาง ยางล้อ เครื่องพิมพ์ (Printers) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการส่งออกไทยอาจต้องเผชิญแรงกดดันจากการค้าและอุปสงค์โลกที่ชะลอลง การแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และการส่งออกไปจีนที่คาดว่าชะลอลง

2)    ความเสี่ยงที่จะโดนสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเนื่องจากการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงเป็นสินค้าที่ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง และได้อานิงส์จากการเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตของจีนในสงครามการค้ารอบแรก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโซลาร์เซลล์ (รูปที่ 4) อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและขนาดการปรับขึ้นภาษี รวมถึงผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีขึ้นในช่วงเดือนก.พ. 2568

        ในภาพรวมการส่งออกไทยปี 2568 คาดว่าจะได้รับผลกระทบสุทธิจากสงครามการค้าเป็นลบที่ราว 0.5% ซึ่งได้รวมอยู่ในประมาณการส่งออกล่าสุดแล้ว จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ลดลงในสินค้าบางรายการที่มีความเสี่ยง การส่งออกไปจีนที่ลดลงในสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการผลิตจีน และการแข่งขันกับสินค้าจีนที่มากขึ้นในตลาดคู่ค้าของไทย

3)    ภาคการผลิตของโลกส่งสัญญาณชะลอตัว ส่วนหนึ่งถูกกดดันจากความต้องการสินค้าที่ลดลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายภายใต้ทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในหลายพื้นที่ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของโลกยังอยู่ในภาวะหดตัวในเดือนธ.ค.2567 ที่ 49.6 ตามผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น