Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 กุมภาพันธ์ 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 30 ม.ค. – 3 ก.พ. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกตามภาพรวมสกุลเงินเอเชีย อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกอ่อนค่าในช่วงต่อมาท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการประชุมเฟด  ก่อนจะแข็งค่ากลับมาอีกครั้ง หลังผลการประชุมเฟดล่าสุด กระตุ้นให้ตลาดคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีทิศทางชะลอลงอาจทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดกำลังใกล้ที่จะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่รอบการประชุมข้างหน้า อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ หลังการประชุม ECB และ BOE มีสัญญาณแข็งกร้าวน้อยกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับยังคงมีปัจจัยลบจากแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 6-10 ก.พ. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ตลอดจนข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของจีน



สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • SET Index ร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ โดยเผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเพื่อลดสถานะเสี่ยงระหว่างรอผลการประชุมเฟด โดยหุ้นกลุ่มที่ถูกเทขายหลักๆ ได้แก่ กลุ่มแบงก์และพลังงานซึ่งมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลง อย่างไรก็ดีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางความคาดหวังว่าเฟดจะชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ย ก่อนจะย่อตัวลงเล็กน้อยหลังตอบรับประเด็นบวกดังกล่าวไปแล้ว และผลประชุมเฟดออกมาตามคาด หุ้นไทยขยับขึ้นอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนการรายงานผลประกอบการ
  • สัปดาห์ที่ 6-10 ก.พ. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,670 และ 1,650 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,720 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/65 ของบจ. ไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกเดือนธ.ค. ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของจีน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น