Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 เมษายน 2568

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 31 มี.ค. – 4 เม.ย. 68)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนครึ่ง ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการค้า อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกอ่อนค่ามาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนครึ่งที่ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางบรรยากาศตลาดการเงินในฝั่งเอเชียที่พลิกกลับมาเป็น Risk-Off หลังจากที่ ปธน. ทรัมป์ ประกาศภาษีตอบโต้ทางการค้ากับหลายประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งโดยรวมมีความรุนแรงมากกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ และทำให้เกิดความกังวลว่า สถานการณ์ของสงครามการค้าที่อาจตึงเครียดมากขึ้นจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลของการปรับขึ้น Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ ยังสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ฯ จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่กลับมาเผชิญแรงขายอย่างหนัก พร้อม ๆ กับการร่วงลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปรับขึ้นภาษีการค้าของ ปธน. ทรัมป์ และการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งตลาดเริ่มให้น้ำหนักว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่สื่อสารไว้ใน dot plot เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงมากขึ้นที่อาจเผชิญกับภาวะถดถอย
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 8-11 เม.ย. 2568 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ของสงครามการค้า (หลังจีนประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าที่มาจากสหรัฐฯ มีผล 10 เม.ย.) ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ และจีน และรายงานการประชุมเฟด (18-19 มี.ค.)


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงท้ายสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มแบงก์ ซึ่งประเมินว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างไรก็ดีหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเหตุการณ์ดังกล่าวปรับตัวได้ดีสวนทางภาพรวม ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในเวลาต่อมา หลังตลาดประเมินว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นเพียงปัจจัยลบระยะสั้น ก่อนจะกลับไปร่วงลงแรงหลังสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้กับประเทศคู่ค้า (บังคับใช้ตั้งแต่ 9 เม.ย. เป็นต้นไป) ซึ่งไทยถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นทุกกลุ่มเพื่อลดสถานะความเสี่ยง ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงต่อเนื่องในช่วงท้ายสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 1,122.51 จุด อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นไฟแนนซ์ปรับตัวได้สวนทางภาพรวมตลาด เนื่องจากมีการคาดการณ์ถึงโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย  
  • สัปดาห์ที่ 8-11 เม.ย. 2568 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,110 และ 1,100 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,135 และ 1,150 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ทิศทางเงินทุนต่างชาติ บันทึกการประชุมเฟด (18-19 มี.ค.) ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ และจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น