Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 เมษายน 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 9-11 เม.ย. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาบางส่วนสอดคล้องกับจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาช่วงกลางสัปดาห์ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ซึ่งส่งผลทำให้การปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว และตลาดบางส่วนเริ่มประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 3 ครั้งในปีนี้ อนึ่ง กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หลังผลการประชุมกนง. ช่วงกลางสัปดาห์ โดยในการประชุมรอบนี้ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ตามเดิม
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.20-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของ IMF (16 เม.ย.) ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ (15 เม.ย.) ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น และตัวเลขเศรษฐกิจจีน อาทิ จีดีพีไตรมาส 1/67 (16 เม.ย.)

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แต่ย่อตัวปิดต่ำกว่า 1,400 จุดก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นแรงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ โดยแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ระดับ 1,411.46 จุด ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐโดยตรง อย่างไรก็ดีหุ้นไทยย่อตัวลงบางส่วนในเวลาต่อมา ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคซึ่งส่วนใหญ่ปรับตัวลงท่ามกลางความกังวลว่า เฟดจะยืนดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ประกอบกับน่าจะมีแรงขายเพื่อปรับโพสิชั่นก่อนวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ
  • สัปดาห์ที่ 17-19 เม.ย. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,385 และ 1,375 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,405 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ (15 เม.ย.)  ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค.ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/67 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (16 เม.ย.)

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น