Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กุมภาพันธ์ 2568

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 24-28 ก.พ. 68)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทเริ่มพลิกอ่อนค่า หลังกนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และเผชิญแรงขายเพิ่มเติมตามราคาทองคำตลาดโลกที่ร่วงหลุดระดับ 2,900 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ช่วงท้าย ๆ สัปดาห์ ทั้งนี้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือนที่ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ หลังกนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง 0.25% มาที่ระดับ 2.00% (ตลาดคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ตามเดิม) ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมตามสัญญาณตึงเครียดของสงครามการค้า หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวย้ำว่า สหรัฐฯ จะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% และจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มี.ค. นี้ เงินบาทยังคงปรับตัวอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ โดยอ่อนค่าผ่านแนว 34.00 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติ และการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกที่หลุดระดับ 2,900 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ลงมา
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 3-7 มี.ค. 2568 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และประเทศคู่ค้าอื่น ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลการประชุม ECB ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณฟันด์โฟลว์ในตลาดการเงินไทย ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ตลอดจนการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC)

 
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเป็นสัปดาห์ที่ 5 และร่วงลงหลุดแนว 1,200 จุด ไปแตะจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปีช่วงท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยเผชิญแรงกดดันจากแรงขายทำกำไรหุ้นรายตัว รวมถึงความกังวลต่อประเด็นความขัดแย้งทางการค้าหลังมีรายงานว่าสหรัฐฯ จะจำกัดการลงทุนของจีนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และจะเดินหน้าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกตามเดิม ประกอบกับน่าจะมีแรงขาย LTF ที่ครบกำหนดเข้ามากดดันตลาดเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้น ๆ กลางสัปดาห์ หลังกนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ส่งผลให้มีแรงซื้อคืนหุ้นช่วงสั้น ๆ กระจายในทุกอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มแบงก์ ดัชนีหุ้นไทยพลิกร่วงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค โดยแตะจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี 11 เดือนที่ 1,186.36 จุดช่วงท้ายสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบของสงครามการค้า หลังสหรัฐฯ ยืนยันจะเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% ในวันที่ 4 มี.ค. พร้อมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% ในวันเดียวกัน และก่อนหน้านี้ก็มีการขู่จะเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากยุโรปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ดัชนีหุ้นไทยยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากแรงขายเพื่อปรับพอร์ตตามการปรับ MSCI Rebalance ซึ่งมีผลในวันที่ 28 ก.พ.
  • สัปดาห์ที่ 3-7 มี.ค. 2568 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,185 และ 1,175 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,215 และ 1,230 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด นโยบายของปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ การประชุม ECB ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ยูโรโซนและอังกฤษ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. (เบื้องต้น) และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลนำเข้าและส่งออกเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น