Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มีนาคม 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 25-29 มี.ค. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนที่ 36.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาปลายสัปดาห์ ทั้งนี้เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก แต่เริ่มทยอยอ่อนค่ากลับมาในช่วงกลางสัปดาห์ หลังข้อมูลการส่งออกไทยออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้ เงินบาทยังอ่อนค่าลงตามการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค นำโดย เงินเยนที่ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 34 ปี และเงินหยวนของจีน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งสะท้อนว่า จังหวะเวลาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าได้อีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากการทะยานขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 1-5 เม.ย. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.00-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางของค่าเงินเอเชีย ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาจนถึงช่วงกลางสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค ประกอบกับน่าจะมีปัจจัยบวกจากตัวเลขส่งออกเดือนก.พ.ของไทยที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และการผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไฟแนนซ์และอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยร่วงลงในเวลาต่อมาตามแรงขายทำกำไรของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยมีแรงซื้อหลักๆ จากหุ้นกลุ่มพลังงานเข้ามาหนุนตามอานิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น   
  • สัปดาห์ที่ 1-5 เม.ย. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,370 และ 1,360 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,385 และ 1,400 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น