Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 เมษายน 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 27-31 มี.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแกว่งตัวผันผวนในกรอบ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวน ก่อนจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นตามภาพรวมตลาดหุ้นและสกุลเงินเอเชีย หลังจากที่ดีลเข้าซื้อกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ของธนาคารเฟิร์สต์ ซิติเซนส์ แบงก์ช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ลงบางส่วน เงินบาทเพิ่มช่วงบวกต่อเนื่องหลังผลการประชุมกนง. ช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปที่ 1.75% พร้อมส่งสัญญาณว่า การปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติยังคงต้องดำเนินต่อไป นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังอ่อนค่าลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน ก่อนการรายงานข้อมูลดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ในเดือนก.พ.
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของไทย พัฒนาการปัญหาของแบงก์ในสหรัฐฯ และยุโรป ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ตลอดจนผลการประชุม RBA และ RBNZ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยปรับตัวขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการเข้าซื้อธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ของสหรัฐฯ และผลการประชุมกนง.ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆระหว่างสัปดาห์ โดยถูกกดดันจากตัวเลขส่งออกเดือนก.พ. ของไทยที่ออกมาหดตัวต่อเนื่อง ก่อนจะขยับขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ อนึ่ง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับขึ้นมากสุดในสัปดาห์นี้ โดยมีแรงซื้อหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งช่วยหนุน จากการเก็งกำไรเรื่องผลประกอบการ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้น
  • สัปดาห์ที่ 3-7 เม.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,585 และ 1,575 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,615 และ 1,625 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ รวมถึงดัชนี PMI เดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น