Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 เมษายน 2567

Econ Digest

การประชุม FOMC วันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. 2567 คาดเฟดคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง…มองปีนี้เฟดปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ได้ส่งสัญญาณไว้

คะแนนเฉลี่ย

        ในการประชุม FOMC วันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. นี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้าและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ เดือนมี.ค. 2567 พลิกกลับมาเร่งตัวขึ้นที่ 3.5% YoY นอกจากนี้ เงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ เดือนมี.ค. 2567 ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 3.8% YoY สะท้อนว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าจะกลับเข้าสู่เป้าหมายของเฟดที่ 2.0% (รูปที่ 1) ขณะที่ ตลาดแรงงานสหรัฐฯ แม้จะชะลอตัวลงและกลับเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น แต่ยังคงสะท้อนภาพที่ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่
        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่เคยคาด (High for longer) ตามตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานล่าสุดที่ยังออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง ประกอบกับจากการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด วันที่ 16 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ระบุว่าการปรับลดของเงินเฟ้อในปีนี้มีความคืบหน้าไม่มากพอ และอาจต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อให้เฟดมั่นใจว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มมุ่งไปสู่เป้าหมาย 2.0% ก่อนที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ขณะที่ ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง
        ตลาดมองเฟดมีแนวโน้มเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายออกไปและอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายน้อยกว่า 3 ครั้งในปีนี้ จากข้อมูลของ CME FedWatch Tool ณ วันที่ 23 เม.ย. 2567 ตลาดส่วนใหญ่มองว่าเฟดอาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนก.ย. 2567 จากเดิมที่เคยมองไว้ในเดือนมิ.ย. 2567 และเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 2 ครั้งในปีนี้ น้อยกว่า 3 ครั้งที่เฟดเคยส่งสัญญาณไว้ผ่านคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเดือนมี.ค. 2567 (รูปที่ 3) อย่างไรก็ดี จังหวะและปริมาณการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดยังคงขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ออกมาเป็นสำคัญ หากในระยะข้างหน้าเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับมาเร่งตัวสูงขึ้นอีกและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง โอกาสที่เฟดจะคงดอกเบี้ยทั้งปี 2567 จะมีมากขึ้น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest