Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 กรกฎาคม 2568

Econ Digest

SMEs ไทย มีแนวโน้มเสี่ยงปิดตัวต่อ จากหลายปัจจัยกดดัน

คะแนนเฉลี่ย

  • ธุรกิจ SMEs ของไทย ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 1 ใน 3 หรือประมาณ 35% ของ GDP กำลังเผชิญหลายปัจจัยกดดัน โดยเฉพาะผลของสงครามการค้ารอบใหม่ และการแข่งขันกับสินค้านำเข้า ท่ามกลางตลาดในประเทศที่เติบโตต่ำ ส่งผลให้ยังเสี่ยงขาดทุนหรือปิดตัวต่อ จากที่ก่อนหน้านี้ ถูกกระทบจากปัญหาโครงสร้างที่มีอยู่เดิม ทำให้มีการปิดตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปี 
  • ธุรกิจ SMEs ที่ยังคงยากลำบากในการแข่งขัน และเสี่ยงขาดทุน/ปิดกิจการต่อ ได้แก่ ก่อสร้าง ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงภาคการผลิตอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก
  • นอกจากความสำคัญของการรักษายอดขายและอัตรากำไร (Bottom line) ของธุรกิจแล้ว SMEs ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาและหาโอกาสให้เจออยู่เสมอท่ามกลางโจทย์ที่นับวันจะยากขึ้น ๆ 

    ธุรกิจ SMEs  มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

            ธุรกิจ SMEs  เป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคการผลิต การค้า และการบริการ รวมถึงมีความเชื่อมโยงทางซัพพลายเชนกับธุรกิจขนาดใหญ่ 

            ธุรกิจ SMEs ของไทย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 6.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 35% ของ GDP และเป็นแหล่งการจ้างงานกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งหมด (รูปที่ 1) โดยผู้ประกอบการไทยกว่า 3.2 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด เป็น SMEs ที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น SMEs จึงมีบทบาทสำคัญในการกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด 
            แม้ธุรกิจ SMEs จะมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย แต่เป็นแรงขับเคลื่อน GDP เพียง 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็น
    1.     ผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้า/บริการต่ำ โดยธุรกิจ SMEs ในภาคการค้าและบริการของไทยที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่าในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทำธุรกิจที่ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชน ทำให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนและการตั้งราคาได้ดีกว่า รวมถึงช่องทางการทำตลาด/การเข้าถึงลูกค้าหลากหลายกว่า 
    ขณะที่ ธุรกิจ SMEs ในภาคการผลิต ก็มีบทบาทเป็นเพียง Subcontractors หรือ Distributors ของธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ทำให้การมีส่วนร่วมและการสร้างมูลค่าเพิ่มใน Global supply chain น้อย สะท้อนจากธุรกิจ SMEs ในภาคการผลิตของไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกอยู่เพียง 7% ของการส่งออกรวมในภาคการผลิตทั้งหมด    
    2. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำได้จำกัด ถึงแม้ไทยจะมีธุรกิจที่เป็น SMEs จำนวนมาก หรือคิดเป็นกว่า 99% ของผู้ประกอบการทั้งหมด แต่ด้วยสายป่านสั้น ความยืดหยุ่นในการปรับตัวมีจำกัด และกว่า 70% อยู่นอกระบบและเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้น เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือปัจจัยกดดันต่าง ๆ จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันหรือทำกำไรของ SMEs มีความเสี่ยง และส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สะท้อนจากการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs คิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์
    3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดยังน้อย เนื่องจากธุรกิจ SMEs มีข้อจำกัดทางด้านเงินทุน องค์ความรู้ และแรงงานทักษะสูงมีอยู่น้อย สะท้อนจากกว่า 70% ของธุรกิจ SMEs ไทย ยังคงใช้เทคโนโลยีในระดับ 2.0  (เช่น การสั่งซื้อออนไลน์ ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์)  ทำให้เสียเปรียบจากการแข่งขันทั้งในประเทศ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงการแข่งขันกับต่างประเทศยังทำได้ยาก
    ปัญหาเชิงโครงสร้างข้างต้น ส่งผลให้สัดส่วนการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของ SMEs ไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และกระทบต่อประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันในเวทีภูมิภาคให้ยังเป็นรองคู่แข่งสำคัญในอาเซียน (รูปที่ 2)

            ธุรกิจ SMEs ของไทยมีการปิดกิจการเพิ่มขึ้น จากปัจจัยท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ต้นทุนการดำเนินธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่องกับสินค้านำเข้าและแพลตฟอร์ม E-commerce ต่างชาติ ส่งผลกดดันต่อการสร้างรายได้และการรักษาอัตรากำไรของธุรกิจ 
    สะท้อนจากในช่วงปี 2563-2566 แม้ผู้ประกอบการ SMEs บางส่วนยังสามารถประคองและรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ แต่ก็มี SMEs ขนาดเล็กและรายย่อยอีกกว่า 26% ที่ต้องเผชิญภาวะผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน (รูปที่ 3) สอดรับไปกับจำนวนการปิดกิจการที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 100 ล้านบาท ปิดกิจการอยู่ที่ 23,551 ราย หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7% (CAGR ปี 2564-2567) (รูปที่ 4)

            ขณะเดียวกัน แม้ว่าในแต่ละปีจะมีธุรกิจ SMEs ที่จัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7% เช่นกัน (CAGR ปี 2564-2567) แต่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่รอดในช่วงหลัง Early stage หรืออยู่รอดหลังจัดตั้งกิจการไปแล้ว 3 ปี กลับมีทิศทางลดลง (รูปที่ 5) สะท้อนว่า ในภาวะการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่เริ่มทำธุรกิจใหม่มีแนวโน้มอยู่รอดยากขึ้น เนื่องจากยังไม่มีฐานลูกค้าประจำ และขาดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง ปัจจัยแวดล้อมและพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

    ธุรกิจ SMEs เสี่ยงขาดทุน/ปิดกิจการต่อ
            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจ SMEs ยังมีแนวโน้มขาดทุนหรือปิดกิจการต่อในแทบทุกอุตสาหกรรม แต่คาดว่าเป็นทิศที่ชะลอลง เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการปิดไปพอสมควรแล้ว
            ภาคการผลิต นอกจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกแล้ว ผลจากสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมตลาดส่งออก ทั้งนี้ ปัจจุบัน SMEs ในภาคการผลิตของไทยมีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ 3.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของมูลค่าส่งออกในภาคการผลิตทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯ 
    ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ โดยมีความเสี่ยงส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้น้อยลง จากทั้งอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) และสินค้าเฉพาะภายใต้มาตรา 232 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของ Global supply chain สะท้อนจากธุรกิจเหล่านี้มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง และมีสัดส่วนพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ของธุรกิจ SMEs ไปยังโลก (รูปที่ 6) แม้ยังไม่แน่ชัดว่าท้ายที่สุด ไทยจะโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เท่าใด แต่ภาษีจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ และจะยิ่งกระทบมากขึ้นหากไทยโดนภาษีในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่ง
            ขณะเดียวกัน ตลาดในประเทศยังต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นกับสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาทิ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สิ่งทอ รวมถึงธุรกิจการเกษตร หากไทยต้องเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ มากขึ้น ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตและความสามารถในการแข่งขันที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้น สวนทางกับดัชนีภาคการผลิตที่ยังมีแนวโน้มหดตัว โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังที่ผลจากสงครามการค้ารอบใหม่มีความชัดเจนมากขึ้น (รูปที่ 7)

            นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ SMEs อีกจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจส่งออกรายใหญ่ ซึ่งมีความเสี่ยงจากผลของสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง สภาวะการณ์ดังกล่าวจึงอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังยอดคำสั่งซื้อของ SMEs ภายในห่วงโซ่การผลิตให้ลดลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในจังหวะที่ผู้ประกอบการใหญ่ระมัดระวังการลงทุน 
            ภาคการค้าและบริการ ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 80% อีกทั้งพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก (รูปที่ 8) ยังถูกกดดันจากกำลังซื้อในประเทศลดลง ตามภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และแรงงานเสี่ยงถูกกระทบการปิดตัวของโรงงานหรือกิจการ ทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย อีกทั้งยังมีประเด็นการเมือง ตลอดจน SMEs ต้องแข่งขันกับรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในการบริหารจัดการต้นทุนที่ผันผวน
            ขณะที่ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของภาคการค้าและบริการ และมีการใช้จ่ายไปยังสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด ก็คาดหวังได้น้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว ข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ความไม่สงบในหลายพื้นที่ของโลก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มหดตัว ประกอบกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดยมีการลดสัดส่วนการช้อปปิ้งลงกว่าในอดีต กระทบต่อยอดขายในบางธุรกิจของ SMEs ที่พึ่งพากำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มนี้ 
            ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหลัก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ขนส่งสินค้า/คน ร้านค้าปลีกอินเทอร์เน็ต และร้านค้าปลีกสินค้าทั่วไป สะท้อนจากตัวเลขการปิดกิจการของธุรกิจเหล่านี้ ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา (รูปที่ 9) และคาดว่าจะยังปิดเพิ่มขึ้นจากความไม่สมดุลของผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากเมื่อเทียบกับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มชะลอลง ทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงลูกค้ายังรุนแรง

    ผลกระทบต่อการจ้างงานของธุรกิจ SMEs
            นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ SMEs แล้ว การขาดทุน/ปิดกิจการที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงาน แม้การจ้างงานสุทธิของธุรกิจ SMEs ยังเป็นบวก จากจำนวนธุรกิจที่เปิดใหม่ยังมากกว่าธุรกิจที่ปิดกิจการ แต่ตัวเลขอัตราการเติบโตกลับลดลงในช่วงปี 2565-2567 
            สะท้อนว่า ไปข้างหน้าจำนวนธุรกิจที่เปิดใหม่อาจสามารถดูดซับแรงงานในตลาดได้น้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภาคการค้าและการผลิตที่มีอัตราการเติบโตของการจ้างงานเฉลี่ยต่อปีเพียง 2.1% และ 0.7% ชะลอลงจากในช่วงปี 2562-2564 ที่เคยโต 3.4% และ 2.0% (รูปที่ 10) สอดคล้องไปกับการจ้างงานในภาพรวม ณ ไตรมาสแรกปี 2568 ของภาคการค้าและการผลิตที่หดตัว -3.1% และ -0.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

            ท้ายที่สุดแล้ว โจทย์ข้างหน้าที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ทำให้เสี่ยงที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของ SMEs จะไม่เพิ่มขึ้นและอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ 
            อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลายของ SMEs ทั้งในแง่จำนวน ประเภทกิจการ และเงื่อนไขทางธุรกิจที่ต่างกัน ทำให้คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวของความอยู่รอด 
            สิ่งที่ SMEs ต้องทำคือ การปรับตัว และการพึ่งพาตนเองให้ได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งความสามารถในการทำกำไร (Bottom line) ยอดขายและสภาพคล่องของธุรกิจ เป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะเดียวกัน การไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และพยายามหาโอกาสท่ามกลางวิกฤตอยู่เสมอ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest