Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 พฤษภาคม 2563

Econ Digest

ส่งออก PCB รอจังหวะฟื้นตัวปี 2564 ตามกระแส 5G และพฤติกรรมผู้บริโภค

คะแนนเฉลี่ย
            การระบาดของไวรัสโควิดในปี 2563 น่าจะทำให้มูลค่าการส่งออก PCB ของไทยโดยรวมหดตัวราว 20.9% ถึง 23.6% หรือมีมูลค่าส่งออกราว 927.4 ถึง 960.8 ล้านดอลลาร์ฯ ตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ลดต่ำลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และการชะลอการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในหลายประเทศ แม้จะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากความต้องการสินค้าในกลุ่ม ICT ที่เพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงไตรมาสสองจากมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ 

             อย่างไรก็ดี หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลาย และทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นในช่วงปี 2564 บวกกับการกลับมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในหลายประเทศเพื่อแข่งขันกันเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ จะทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์โลกในปีหน้าน่าจะเริ่มฟื้นตัว และส่งผลให้การส่งออก PCB ของไทยสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งราว 3.0% ถึง 5.5% หรือมีมูลค่าส่งออกราว 955.4 ถึง 1,013.5 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2564 ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรม PCB ของไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์เป็นหลัก คือ กลุ่มสารสนเทศและสื่อสาร (ICT)  กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (CE)  และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (AE) ครองสัดส่วนมูลค่าการส่งออก PCB ของไทยรวมกว่า 92%

              ​สำหรับโอกาสทางธุรกิจของไทยจากกระแสการมาของยุค 5G ที่จะทำให้เกิดวัฎจักรขาขึ้นรอบใหม่ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น อุตสาหกรรมการผลิต PCB ไทยน่าจะยังคงสามารถเกาะกระแสดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจาก PCB ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 5G ส่วนใหญ่ยังคงใช้ PCB แบบเดิม ยกเว้นในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่ประมวลผลคลื่นความถี่ ซึ่งยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนขึ้นในไทย


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest