Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 พฤษภาคม 2567

Econ Digest

เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 5.25-5.50% และส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยสูงนานขึ้น แต่คาดว่าจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย

คะแนนเฉลี่ย
  • จากการประชุม FOMC วันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. ที่ผ่านมา เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะลดลงสู่ระดับเป้าหมาย ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ แม้เฟดจะยังคงมาตรการ Quantitative Tightening (QT) แต่เฟดจะเริ่ม QT tapering หรือลดขนาดการทำ QT ลงตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป โดยปรับลดวงเงินพันธบัตรที่จะครบกำหนดการไถ่ถอนแต่ละเดือนจาก 60,000 ล้านดอลลาร์ฯ ลงเหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ยังคงวงเงินหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Mortgage-Backed Security: MBS) ไว้ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์ สะท้อนนโยบายการเงินที่ลดการตึงตัวลง
  • การสื่อสารของเฟดในการประชุมครั้งนี้สะท้อนว่าดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มคงอยู่ในระดับสูงนานขึ้นอย่างไรก็ดี เฟดมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้น้อย ขณะที่ยังมองโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้อยู่ แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่อใด
  • ตลาดส่วนใหญ่มองเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปีนี้ โดยจังหวะและปริมาณการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดยังคงขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ออกมาเป็นสำคัญ ซึ่งแม้ว่านายเจอโรมพาวเวล ประธานเฟดจะระบุว่าปัจจัยทางการเมืองไม่ส่งผลต่อการพิจารณาของเฟด แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงใกล้ๆ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. คงจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น หากเฟดไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ก็คงจะปรับลดดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. แทน อย่างไรก็ดี หากในระยะข้างหน้าเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับมาเร่งตัวสูงขึ้นอีกและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง โอกาสที่เฟดจะคงดอกเบี้ยทั้งปี 2567 จะมีมากขึ้น
  • ทั้งนี้ การสื่อสารของเฟดที่ตัดความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ส่งผลบวกให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงแรกหลังผลการประชุม FOMC ออกมา ก่อนที่จะปรับตัวลดลงและปิดตลาดลบในบางดัชนีจากแนวโน้มการตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงนานขึ้นประกอบกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะการปรับลดดอกเบี้ย ในขณะที่ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีและอายุ 2 ปีปรับลดลงหลังการส่งสัญญาณทำ QT Tapering ส่วนค่าเงินดอลลาร์ฯ ได้อ่อนค่าลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest