Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มิถุนายน 2567

Econ Digest

การส่งออกไทยเดือนพ.ค. 67 ขยายตัวดีกว่าคาดจากปัจจัยชั่วคราว โดยยังคงประมาณการส่งออกไทยปี 2567 ไว้ที่ 1.5%

คะแนนเฉลี่ย

        การส่งออกไทยในเดือนพ.ค. 67 ขยายตัว 7.2%YoY ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 2.0%YoY โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการส่งออกผลไม้นำโดยทุเรียนสดที่กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน จากผลผลิตออกมาช้ากว่าปกติเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะร้อนและแล้งจัด และส่งผลให้การส่งออกไปจีนขยายตัว 31.2%YoY ในเดือนพ.ค.67 นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์ ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกโซลาร์เซลล์ ปรับลดลง 3 เดือนติดต่อกัน หลังจากมีการเร่งส่งออกในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งการส่งออกโซลาร์เซลล์ตลอดในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงติดลบเนื่องจากประเด็นเรื่องการเลี่ยง AD/CVD ของไทย (รูปที่ 1 และ 2)

        ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ยังสร้างความไม่แน่นอนต่อการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า โดยอาจเห็นการเร่งส่งออกสินค้าจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งอาจไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกลุ่มสินค้าที่จะถูกปรับขึ้นภาษีนำเข้าในเดือนส.ค.67 เท่านั้น แต่อาจครอบคลุมไปถึงสินค้าอื่นๆ เนื่องจากตลาดมีความกังวลว่า หากทรัมป์ได้รับตำแหน่งขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนต่อไป อาจมีการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าต่อสินค้าจีนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งต้นทุนค่าขนส่งทางเรือในปัจจุบัน (20 มิ.ย.67) ปรับสูงขึ้นราว 90% นับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.67 โดยถูกกดดันจากเส้นทางที่สินค้าออกจากตลาดจีนไปชาติตะวันตกเป็นสำคัญ
        ในขณะที่การเร่งส่งออกของจีนส่งผลต่อการส่งออกไทยไม่มากนัก ถึงแม้ไทยจะอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าของจีน โดยสัดส่วนการส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปยังจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยมาจากโครงสร้างการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวที่เปลี่ยนไป สะท้อนผ่านการส่งออกสินค้ากลุ่มขั้นกลางที่สำคัญไปยังจีน อาทิ ยาง พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่เติบโตลดลง หลังจีนมีนโยบายพึ่งพาการผลิตสินค้ากลุ่มปิโตรเคมีภายในประเทศมากขึ้น (รูปที่ 3)

        กล่าวโดยสรุป การส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแต่อาจอยู่ในกรอบที่จำกัด แม้การส่งออกใน 5 เดือนแรกของปีขยายตัวที่ 2.6%YoY  แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมส่งออกไทยในปี 2567 ขยายตัวที่ 1.5% เนื่องจากฐานที่สูงในบางเดือนในช่วงที่เหลือของปีนี้ และการส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และไม่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการค้าโลกเท่าที่ควร โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เห็นการส่งออกขยายตัวอย่างมากในกลุ่มประเทศส่งออกอิเล็กทรอนิกส์หลัก อาทิ เกาหลีใต้ ที่ได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวเนื่องกับ AI 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น