• เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2568 โตเร่งขึ้นที่ 7.96%YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การลงทุนภาครัฐ และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม (รูปที่ 1 และ 2)
- การส่งออกเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 18.0%YoY โดยหลัก ๆ คือ การเร่งส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ก่อนสิ้นสุดช่วงระงับภาษี 90 วัน และก่อนทราบผลว่าเวียดนามได้ดีลจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษี reciprocal 20% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 46% (รูปที่ 3)
- การลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 20.1%YoY จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ สนามบินนานาชาติ Long Thanh และทางหลวงเชื่อมเวียดนามเหนือ-ใต้ (North-South Expressway)
- ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 10.3%YoY สะท้อนการเร่งการผลิตเพื่อตอบโจทย์การส่งออกและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยการผลิตที่เร่งตัวขึ้นอยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปเหล็ก อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์
• ทั้งปี 2568 เศรษฐกิจเวียดนามคาดเติบโตที่ 6.7% โดยจะโตชะลอลงในครึ่งหลังของปีจากครึ่งแรกที่เติบโต 7.52%YoY ซึ่งมีปัจจัยฉุดดังนี้
- การส่งออกชะลอตัวจากการที่สหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้ภาษี reciprocal 20% โดยมองว่าการส่งออกเวียดนามจะชะลอตัวลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ คาดหดตัวลง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้สต๊อกสินค้าเอาไว้แล้วในช่วงไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ ยังประเด็นเกี่ยวกับสินค้าที่ประเทศอื่นส่งออกผ่านเวียดนาม (transshipped goods) ที่จะถูกเก็บภาษีสูงถึง 40% ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนถึง 29% ของการส่งออกรวม (รูปที่ 4)
- การเกินดุลการค้าลดลงจากการเปิดตลาดสินค้าให้กับสหรัฐฯ รวมทั้งการเซ็น MOU ซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่า 2-3 พันล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหลักหนุนการเกินดุลการค้าของเวียดนามในภาพรวม (รูปที่ 5)
• นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายปัจจัย ได้แก่
- ทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอง หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศบรรลุความตกลงกับเวียดนาม ค่าเงินดองก็อ่อนค่าเป็นประวัติการณ์มาที่ระดับ 26,195 ดองต่อดอลลาร์ฯ (รูปที่ 6) ทั้งนี้ เป็นเพราะดีลนี้ทำให้เวียดนามมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจากการเกินดุลการค้าที่ลดลง นอกจากนี้ เวียดนามยังเผชิญกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
- ปัญหาเสียในระบบธนาคารยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยสัดส่วน NPL อยู่ที่ระดับ 4.78% ณ เดือน มี.ค. 2567 และยังไม่มีการประกาศข้อมูลสัดส่วน NPL ในปีนี้ ทั้งนี้ หนี้เสียในระบบธนาคารเวียดนามมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2565
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น